การป้องกันชายแดนด้านจ๊กก๊ก ของ สุมาเล่าจี๋

ในช่วงที่กุยห้วยเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยงจิ๋ว กุยห้วยนับถือความสามารถของสุมาเล่าจี๋อย่างสูง[7] สุมาเล่าจี๋ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบัณฑิตเซี่ยวเหลียน (孝廉 "ผู้กตัญญูและซื่อตรง") ต่อมาสุมาเล่าจี๋ได้เป็นมหาดเล็กกลาง (郎中 หลางจง)[8] เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กยกทัพบุกหล่งโย่ว (隴右) กุยห้วยได้ขอตัวสุมาเล่าจี๋ให้มาเป็นผู้ช่วยข้าหลวงมณฑลอีกครั้ง[9] หลังต้านการบุกของจ๊กก๊กได้สำเร็จ กุยห้วยเสนอความชอบของสุมาเล่าจี๋ไปยังราชสำนัก จึงมีการเรียกตัวสุมาเล่าจี๋มาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจจิ๋นผู้เป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) ต่อมาย้ายไปเป็นบัณฑิตวรรณกรรม (文學 เหวินเสฺว) ในสำนักของโหวแห่งลิมฉี (臨淄侯 หลินจือโหว)[10]

เตงโป้ (鄭袤 เจิ้ง เม่า) แนะนำสุมาเล่าจี๋ให้กับอองลองผู้เป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) อองลองจึงรับสุมาเล่าจี๋เข้าทำงานทันที[11] ต่อมาสุมาเล่าจี๋ได้ดำรงตำแหน่งนายกองร้อยทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) เข้าร่วมราชการกองทัพ เดินทางไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองลำอั๋น (南安 หนานอาน) และย้ายกลับมาเป็นขุนนางสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง)[12] ในช่วงที่โจจิ๋นรับผิดชอบกำกับราชการทหารในมณฑลด้านตะวันตก (ยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว) สุมาเล่าจี๋ได้เข้าร่วมช่วยราชการในทัพเสนาบดีกลาโหม[13]

หลังโจจิ๋นเสียชีวิตในปี ค.ศ. 231 สุมาอี้ได้ขึ้นตำรงตำแหน่งแทนโจจิ๋น สุมาอี้ตั้งให้สุมาเล่าจี๋ช่วยราชการในทัพม้าทะยาน (驃騎軍 เพี่ยวฉีจฺวิน) ต่อมาสุมาเล่าจี๋ได้ไปเป็นเจ้าเมืองของเมืองเทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย)[14] เมืองเทียนซุยอยู่ใกล้กับชายแดนที่ติดกับอาณาเขตของรัฐจ๊กก๊ก จึงถูกทัพจ๊กก๊กบุกปล้นชิงอยู่หลายครั้ง จำนวนประชากรในเมืองก็ลดลงและมีพวกโจรฉกฉวยอยู่ทุกหนทุกแห่ง สุมาเล่าจี๋จึงจัดการวางกำลังป้องกันเมือง ให้สร้างตลาดกระตุ้นการค้า และยึดที่ดินที่ถูกช่วงชิงไปคืนมาภายในเวลาไม่กี่ปี[15] ภายหลังสุมาเล่าจี๋ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองของเมืองก่วงผิง (廣平) ชาวเมืองเทียนซุยและชนเผ่ากลุ่มน้อยต่างเคารพนับถือสุมาเล่าจี๋ จึงพากันเขียนฎีกาส่งไปนครหลวงเพื่อขอให้สุมาเล่าจี๋กลับมาเป็นเจ้าเมืองเทียนซุยตามเดิม จักรพรรดิโจยอยทรงเห็นชอบและออกพระราชโองการยกย่องสุมาเล่าจี๋ว่าเป็นคุณธรรมเฉกเช่นหฺวาง ป้า (黃霸) สุมาเล่าจี๋ยังได้รับยศเป็นขุนพลปราบโจร (討寇將軍 เถ่าโค่วเจียงจฺวิน)[16]