จุดเริ่มต้น ของ สู่ความหวังใหม่

วงซูซู มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวกันของทีมนักดนตรีเพลงเพื่อชีวิตชั้นนำในช่วงนั้น นำโดย ซู - ระพินทร์ พุฒิชาติ อดีตหัวหน้าวงกะท้อน ที่ได้ถูกขับไล่ออกจากวงมา ภายหลังจากการทำอัลบั้มชุดที่ 3 ญี่ปุ่น-ยุ่นปี่ ในปี พ.ศ. 2531 ด้วยเหตุผลที่ขัดแย้งกับผู้จัดการวงและเพื่อนร่วมวง จึงได้มารวมตัวกับ 2 นักดนตรีจากวงคาราวาน ที่กำลังจะมีโครงการที่จะพักวงในขณะนั้น ซึ่งก็คือ เอ็ดดี้ - สุเทพ ปานอำพัน และ อู๊ด ยานนาวา พร้อมทั้ง ปราโมทย์ ม่วงไหมทอง ทีมงานในวงกะท้อน และนักร้องหน้าใหม่อย่าง พันทิวา ภูมิประเทศ จากการแนะนำของยืนยง โอภากุล เพื่อก่อตั้งวงดนตรีกันขึ้นมาใหม่ ในชื่อของ ซูซู ที่มีซูเป็นแกนนำ โดยมี วีระศักดิ์ ขุขันธิน มาร่วมจัดการเนื้อร้อง , ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง จัดการในด้านเนื้อร้องเป็นหลัก พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการให้กับวงซูซู และได้ แอ๊ด คาราบาว มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับทางวงให้กับอัลบั้มชุดนี้อีกด้วย

“หน้าที่โปรดิวเซอร์ของผมอาจจะแปลกกว่าคนอื่น

ผมทำได้แค่เพียงว่าจุดไหนเป็นจุดที่ดี ผมจะให้เขาคำนึงกันถึงจุดนั้น
ผมไม่ได้เปลี่ยนทิศทางดนตรีที่เขากำลังเล่นกันอยู่
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเด่นอย่างกีตาร์ของเขา การร้อง หรือลักษณะดนตรี
สัดส่วนของดนตรียังคงความเป็นเอกลักษณ์ที่เขามีอยู่
ส่วนเพลงที่เสริมเข้าไป ก็เป็นเพลงที่นำมาจากแนวของตลาดปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นในจุดที่ผมเป็นโปรดิวเซอร์อันนี้ ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นโปรดิวซ์ แต่อยากเรียกว่าเป็นผู้ร่วมงานมากกว่า”[ต้องการอ้างอิง]— ยืนยง โอภากุล
1 ในโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มชุดนี้ กล่าวถึงส่วนของการทำงานของตนในชุดนี้

“จุดแรก ผมต้องการจะหนีตัวเอง เพราะทีมที่ทำซูซูนี่ก็เป็นทีมครีเอทีฟของกะท้อนมาตลอด

เราจึงต้องการความคิดอะไรใหม่ๆ ต้องการอะไรที่มันกว้างขึ้น ส่วนของแอ๊ดที่เขามีอยู่มันเข้มข้นดี ก็ขอให้เขามาช่วยคนเดียว
ที่ว่ากว้างนี่หมายถึงสามารถทำอะไรที่มันแตกต่างจากที่เป็นอยู่ อาจจะไม่มากนัก แต่ก็ยังดีกว่าเก่า ...
ในส่วนของเนื้อหาก็ยังคงเป็นเพลงเพื่อชีวิตอยู่ มีทั้งหนักทั้งเบานะครับ
คือไม่หนักเท่าคาราวาน คาราบาว เป็นน้องลงมาว่างั้นเถอะ ส่วนที่เป็นเอนเตอร์เทนก็มีมากขึ้น”[ต้องการอ้างอิง]— ระพินทร์ พุฒิชาติ
ตอบคำถามถึงเหตุผลที่ได้เลือกยืนยงเข้ามาเป็นโปรดิวเซอร์ของงานชุดนี้