ประวัติ ของ หนังสือพิมพ์

กองตั้งหนังสือพิมพ์

ประมาณ 60 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยุคอาณาจักรโรมันที่อารยธรรมเจริญยิ่ง จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์บัญชาให้อาลักษณ์คัดลอกแถลงการณ์ของพระองค์ รวมถึงข่าวประจำวันของราชการ แล้วนำไปปิดไว้ตามกำแพงในที่ชุมชนเพื่อประชาชนได้อ่านทั่วถึง ใบประกาศนั้นเรียก "แอ็กตา ดิอูนา" (Acta diuna) นับว่าเป็นต้นแบบหนังสือพิมพ์ ขณะที่ทางตะวันออก ในประเทศจีนก็ได้กำเนิดหนังสือพิมพ์ ซิงเป้า (Tsing Pao) ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับราชการสำนักมาตั้งแต่ พ.ศ. 1043

จากแผ่นประกาศข่าว วิวัฒนาการเป็นจดหมายข่าว และหนังสือข่าว รายงานข่าวสารทางการค้า การเมือง แล้วพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ. 1997 ที่ โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ชาวเยอรมัน ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์และตัวพิมพ์ขึ้น และวิลเลียมส์ แซกส์ตัน นำเครื่องพิมพ์ไปใช้ในประเทศอังกฤษ

การพัฒนาแท่นพิมพ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ที่สุดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกก็เกิดขึ้น คือ Avisa Relation Order Zeitung พิมพ์ขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. 2152 แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์รายวัน กระทั่ง พ.ศ. 2165 อังกฤษรวบรวมข่าวรายวันมาพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ ในชื่อ A Weekly News London ถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก โดยเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป เป็นของใหม่ที่ได้รับความสนใจมากพอควร แต่ออกเป็นรายสัปดาห์ ต่อมา ได้มีผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์เป็นรายวันคนแรกของโลกคือ เอ็ดวาร์ด มอลเลต หนังสือชื่อ The Daily Courant ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2245 เปิดโลกใหม่ด้วยการเสนอบทความ บทวิจารณ์สังคม คอลัมนิสต์ชื่อดังคือ ดาเนียล เดอโฟ

บทวิจารณ์เขาโจมตีรัฐบาลและวิธีการปฏิบัติศาสนกิจของคริสต์ ถูกใจประชาชน แต่เป็นที่ขัดใจของกษัตริย์และพระสันตะปาปา เขาถูกจับตัวคุมขัง แต่มีเพื่อนดีจัดหาอุปกรณ์เครื่องเขียนให้ เดอโฟจึงคิดออกหนังสือพิมพ์ วิธีการคือเขาเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความจากข้อเท็จจริงที่เพื่อนส่งมาให้จากภายนอก เสร็จแล้วส่งออกไปพิมพ์ นั่นเป็นจุดกำเนิดของหลักการ "เขียนข่าวใหม่" หรือเรียบเรียงข่าว หรือ Rewriting

ส่วนในสหรัฐอเมริกาหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรก ออกที่ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ พ.ศ. 2326 มีชื่อว่า เพนซิลเวเนียอีฟนิงโพสต์แอนด์เดลีแอดเวอร์ไทเซอร์ (Pennsylvania Evening post and Daily Advertiser)

ใกล้เคียง

หนังสือเดินทางไทย หนังสือปฐมกาล หนังสืออิสยาห์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หนังสืออพยพ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือกันดารวิถี หนังสือเลวีนิติ หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ หนังสือเดินทางชนิดอ่านด้วยเครื่องได้