ประสาทสัมผัสและการผสมพันธุ์ ของ หมึกกล้วย

นอกจากนี้แล้ว หมึกกล้วย ยังเป็นสัตว์ที่ไม่มีประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ดังนั้นแม้จะถูกตะขอของชาวประมงเกี่ยวขึ้นมาก็ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด หากไม่ไปถูกอวัยวะสำคัญแล้ว เมื่อหมึกกล้วยสามารถหลุดออกมาหรือถูกปล่อยลงน้ำ ก็สามารถว่ายต่อไปได้อีกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมึกกล้วยมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นใด เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วจะไม่สนใจสิ่งใด ๆ เลย แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอันตรายต่อตนเองก็ตาม ตัวผู้จะจ้องดูตัวเมียแล้วพุ่งตัวเข้ากอดรัดโดยใช้หนวดมัดจนตัวเมียดิ้นไม่หลุด ขณะเดียวกันสีผิวของตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงจากนั้นตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปในตัวเมีย หลังจากนั้นตัวผู้และตัวเมียก็แยกย้ายจากกันโดยอาจไม่มีโอกาสมาพบกันอีกเลย ส่วนตัวเมียก็จะเริ่มวางไข่ ตามก้อนหินไข่ที่วางไว้มีลักษณะเป็นวุ้นเหนียวแข็งห่อหุ้มไข่ไว้ ตัวเมียวางไข่ครั้งละประมาณ 1,500 ฟอง และจะปล่อยให้ลูกหมึกฟักออกมาเป็นตัวตามธรรมชาติโดยไม่ได้ดูแล หลังจากวางไข่แล้วหมึกตัวเมียจะมีสภาพร่างกายที่อ่อนเพลียและจะล้มตายลง ซึ่งในบางครั้งจะตายลงพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก จนเสมือนเป็นสุสานของหมึกกล้วยใต้ทะเล[6]