ลักษณะ ของ หมึกกล้วย

รูปแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของหมึกกล้วย 1. ท่อน้ำออก, 2. หนวดจับ, 3. ปาก 4. ระยางค์ครีบรูปสามเหลี่ยม 5. หนวด, 6. ตา, 7. ลำตัว

หมึกกล้วย นับเป็นหมึกที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด เป็นที่รู้จักมากที่สุด หมึกกล้วยมีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวกลม มีระยางค์เหมือนครีบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ทางด้านซ้ายและขวา มีหนวดทั้งหมด 10 หนวด และจะมีอยู่คู่หนึ่งที่ยาวกว่าหนวดอื่น ๆ ใช้สำหรับหยิบจับอาหาร เรียกว่าเป็นหนวดล่าเหยื่อ หรือหนวดจับ โดยหนวดอื่น ๆ นั้นจะใช้สำหรับช่วยเพื่อไม่ให้อาหารหลุดไป ก่อนที่จะกัดกินเข้าปาก[3]

หมึกกล้วย เป็นหมึกที่มีรูปร่างเพรียวยาว ภายในลำตัวมีแคลเซียมแข็งลักษณะโปร่งใส เรียกว่า เพน (Pen) ที่มีขนาดเล็กและบางกว่าลิ้นทะเลที่เป็นแคลเซียมแข็งเช่นเดียวกันในกลุ่มหมึกกระดอง[4][3]

การเปลี่ยนสี

หมึกกล้วย เป็นสัตว์ที่เปลี่ยนสีลำตัวได้อย่างรวดเร็วมาก โดยใช้การบีบรัดของเม็ดสี ตั้งแต่สีแดง น้ำเงิน และเขียว โดยทั่วไปแล้ว หมึกกล้วยเมื่ออยู่ในทะเลจะมีลำตัวสีน้ำเงินเพื่อให้กลมกลืนไปกับสภาพของน้ำทะเล แต่เมื่อถูกจับขึ้นมาแล้วหรือขึ้นมาใกล้ ๆ กับผิวน้ำ จะเปลี่ยนสีตัวเองเป็นสีแดงเข้ม อันเนื่องจากในท้องทะเล สเปคตรัมจากแสงอาทิตย์เมื่อผ่านทะลุไปยังท้องทะเล แสงสีแดงจะเป็นสีแรกที่ถูกดูดกลืนหายไป ดังนั้นด้วยทัศนวิสัยการมองเห็นรวมทั้งสายตาของมนุษย์ด้วย จึงจะเห็นสภาพทั่วไปของท้องทะเลเป็นสีน้ำเงินคราม หรือสีม่วงเข้ม เมื่อหมึกสายถูกนำตัวขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ การมองเห็นของตัวหมึกจะเห็นเป็นสีแดง จึงเปลี่ยนสีลำตัวเป็นสีแดงเพื่อการพรางตัว[3]

การพรางตัว

หมึกกล้วย ใช้วิธีการป้องกันด้วยการพ่นหมึก ซึ่งเป็นของเหลวสีดำคล้ำซึ่งประกอบด้วยเมลามีนและสารเคมีประเภทอื่น ใช้สำหรับการหลบหนี โดยการพ่นหมึกของหมึกกล้วยนั้น ส่วนมากจะใช้วิธีการพ่นแบบกลุ่มก้อนหมึกให้เป็นกลุ่มใหญ่ และตัวหมึกจะซ่อนตัวอยู่ในนั้น อันเนื่องจากหมึกกล้วยเป็นหมึกที่ว่ายอยู่ในระดับกลางน้ำรวมถึงสรีระที่มีแกนแข็งอยู่ภายใน จึงไม่สามารถหาที่หลบซ่อนหรือเข้าไปซ่อนในที่กำบังต่าง ๆ ได้เหมือนอย่างหมึกสาย[3]