ประวัติ ของ หมู่บ้านสันติคีรี

จุดกำเนิดของหมู่บ้านสันติคีรีมีมาตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตุง ได้รับชัยชนะในประเทศจีน ส่วนกองทัพก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของจอมทัพเจียง ไคเช็ค ที่พ่ายแพ้ ได้ล่าถอยไปยังไต้หวัน ยกเว้นกรมทหารราบที่ 3 ที่ 5 และกองพล 93 ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมจำนน[3] การสู้รบระหว่างกองทัพคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ห่างไกลบางส่วนของจีน รวมทั้งมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เคลื่อนทัพเข้าสู่คุนหมิง เมืองหลวงของมณฑล ได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 กรมทหารที่ 3 และที่ 5 ภายใต้การบัญชาการของพลเอกลี เหวินห้วน และต้วน ซีเหวิน ตามลำดับ ได้ทำการสู้รบออกจากยูนนานและหลบหนีเข้าไปในพื้นที่ป่าของพม่า[4]

สงครามยังไม่สิ้นสุดสำหรับทหารก๊กมินตั๋ง หลังจาก "การเดินทางวิบาก" ของพวกเขาตั้งแต่ยูนนานจนถึงรัฐฉานของพม่า ฝ่ายพม่าเมื่อค้นพบว่ามีกองทัพต่างชาติเข้ามาตั้งค่ายในแผ่นดินของตนก็ได้ทำการโจมตี การสู้รบยืดเยื้อกว่า 12 ปี และทหารก๊กมินตั๋งหลายพันคนได้อพยพไปยังไต้หวัน เมื่อจีนเข้าร่วมในสงครามเกาหลี หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) มีความต้องการข่าวกรองเกี่ยวกับจีนอย่างมาก ซีไอเอได้หันไปพึ่งนายพลก๊กมินตั๋งทั้งสอง ผู้ซึ่งตกลงที่จะส่งทหารบางส่วนกลับเข้าไปในจีนสำหรับภารกิจในการแสวงหาข่าวกรอง เพื่อเป็นการตอบแทน ซีไอเอได้เสนออาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่นายพลทั้งสองเพื่อยึดจีนคืนจากฐานในรัฐฉาน กองทัพก๊กมินตั๋งพยายามมากกว่าเจ็ดครั้งระหว่าง พ.ศ. 2493 และ 2495 แต่ก็ถูกขับไล่กลับมายังรัฐฉานครั้งแล้วครั้งเล่า[5] การสิ้นสุดของสงครามเกาหลีใน พ.ศ. 2496 มิใช่จุดสิ้นสุดสำหรับการต่อสู้กองทัพคอมมิวนิสต์จีนและพม่า ซึ่งยังคงมีต่อเนื่องมาเป็นเวลาอีกหลายปี โดยได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันและไต้หวัน ซึ่งเงินทุนนั้นก็ได้รับมาจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ายาเสพติดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ[6]

สันติคีรีบนดอยแม่สลอง พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ลี้ภัยในประเทศไทย

พ.ศ. 2504 นายพลต้วนนำทหารก๊กมินตั๋งที่เหนื่อยล้าจากการทำศึกราว 4,000 นายออกจากพม่าเข้ามายังแถบภูเขาแม่สลองในประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนกับการลี้ภัยครั้งนี้ รัฐบาลไทยกำหนดให้พวกเขาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์[7] ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีเชื้อชาติจีน เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากทหารก๊กมินตั๋ง ขณะเดียวกัน พลเอกลี แห่งกรมทหารที่ 3 ได้ก่อตั้งกองบัญชาการใหญ่ขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่[8] กองทัพก๊กมินตั๋งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กำลังนอกแบบจีน" (CIF) และได้รับการจัดวางให้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะทำงานพิเศษ ชื่อรหัส "04" โดยอยู่ภายใต้กองบัญชาการทหารสูงสุดในกรุงเทพมหานคร[5]

หลังจากที่ทหารก๊กมินตั๋งมาถึงดอยแม่สลอง ได้ตกลงที่จะถ่ายโอนการบริการกลุ่มให้แก่รัฐบาลไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ ประหยัด สมานมิตร ซึ่งถูกย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อคอยดูกองพลก๊กมินตั๋ง ได้ถูกสังหารโดยคอมมิวนิสต์ ไม่นานหลังจากนั้น กองพลก๊กมินตั๋งได้รับคำสั่งให้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการตอบโต้กองทัพที่กำลังรุกคืบเข้าใกล้ชายแดนทางเหนือของไทย และภัยคุกคามภายในที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย[9] ได้มีการสู้รบอย่างดุเดือดในแถบภูเขาดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น ปฏิบัติการนองเลือดเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ระยะเวลาห้าปีคร่าชีวิตไปกว่า 1,000 ชีวิต โดยจำนวนมากเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด จนกระทั่ง พ.ศ. 2525 ทหารจึงสามารถวางอาวุธและปลดจากหน้าที่กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่ดอยแม่สลอง เพื่อเป็นรางวัลแก่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รัฐบาลไทยมอบสถานะพลเมืองให้แก่ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัวเป็นส่วนใหญ่[9]

แม้รัฐบาลไทยพยายามที่จะรวมกองพลก๊กมินตั๋งและครอบครัวเข้ากับชาติไทย แต่ผู้อาศัยบนดอยแม่สลองกลับเลือกที่จะใช้เวลาหลายปีเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นผิดกฎหมาย ร่วมกับขุนศึกยาเสพติด ขุนส่า แห่งกองทัพสหฉาน[3] พ.ศ. 2510 ต้วนได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษของวีกเอนด์เทเลกราฟว่า

เรายังต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่ชั่วร้ายต่อไป และเพื่อที่จะสู้ คุณต้องมีกองทัพ และกองทัพจะต้องมีปืน และในการที่จะซื้อปืน คุณต้องมีเงิน ในแถบภูเขานี้ เงินเพียงแหล่งเดียวก็คือฝิ่น[10]

– พลเอกต้วน ซีเหวิน (10 มีนาคม 2510)

ตามรายงานของซีไอเอใน พ.ศ. 2514 ดอยแม่สลองเป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตเฮโรอีนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[11] จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 หลังกองทัพของขุนส่าถูกขับไล่และผลักดันกลับเข้าสู่พม่าโดยกองทัพไทยแล้ว รัฐบาลจึงสามารถควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการเปลี่ยนพืชที่ปลูกและการให้ชื่อใหม่ สันติคีรี หมายถึง "ภูเขาแห่งสันติภาพ" รัฐบาลพยายามที่จะแยกพื้นที่ดังกล่าวออกจากภาพลักษณ์ในอดีตที่เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น[12] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมาชิกราชวงศ์จักรีพระองค์อื่นมักเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเป็นประจำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนอดีตทหารผู้ซึ่งเคยต่อสู้ให้กับชาติไทย[9]

สันติคีรีในปัจจุบัน

ก่อนหน้ากลางทศวรรษ 1970 ดอยแม่สลองห้ามคนภายนอกเข้าอย่างเข้มงวด[13] จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา สันติคีรีได้พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีถนนสายแคบที่มีร้านเหล้า ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านน้ำชาตั้งอยู่ข้างทาง ผลที่ตามมาคือ สันติคีรีได้กลายมาเป็นหนึ่งในสิบจุดหมายเดินทางของนักท่องเที่ยวสะพายเป้หลังที่ได้รับความนิยมสูงสุด[14] อดีตทหารได้ตั้งถิ่นฐานลง โดยมีบางส่วนสมรสกับเจ้าสาวเชื้อสายจีนผู้ซึ่งข้ามพรมแดนมาก่อนที่สงครามกลางเมืองจีนจะยุติ และอีกส่วนหนึ่งสมรสกับชาวไทยท้องถิ่น อดีตทหารและผู้สืบเชื้อสายได้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีน ภาษาหลักที่ใช้พูดกันยังคงเป็นภาษาแมนดาริน

โครงการเปลี่ยนพืชประสบความสำเร็จ กระตุ้นให้เกิดการปลูกชา กาแฟ ข้าวโพดและไม้ผล แทนที่ฝิ่นซึ่งเคยปลูกกันมาแต่เดิม ได้มีการจัดตั้งสวนผลไม้และโรงงานชาขึ้น ตามมาด้วยโรงงานการผลิตไวน์ผลไม้และสมุนไพรจีน ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย ไต้หวัน ประชาคมชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน[15]

ใกล้เคียง

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) หมู่บ้านหาดเสือเต้น หมู่บ้านลุ่ม หมู่บ้านป่าขนุน หมู่บ้านสันติคีรี หมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่ากล้วย หมู่บ้านกกค้อ หมู่บ้าน (ประเทศไทย)

แหล่งที่มา

WikiPedia: หมู่บ้านสันติคีรี http://www.1stopchiangmai.com/northern_thailand/ma... http://www.asiapacificms.com/papers/pdf/gt_opium_t... http://www.passplanet.com/thailand/frame_where_go.... http://www.thailand.com/travel/natural/natural_chi... http://www.thaiwave.com/benjarong/beyondphuket/mae... http://www.time.com/time/arts/article/0,8599,20358... http://www.shanland.org/general/NinP/The-Kuomintan... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Santik...