พระประวัติ ของ หม่อมประทุม

ชีวิตตอนต้น

หม่อมประทุม ปรากฏอยู่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า มีพระนามและพระยศเดิมว่า พระองค์เจ้ามิตร (หรือ มิต) เป็นพระราชธิดาในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าสวย พระชนกเป็นวังหน้าและเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่วนพระชนนีเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ[4] หม่อมประทุม มีพระขนิษฐา (บางแห่งว่าเป็น พระอนุชา) ร่วมพระชนกชนนีอีกสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าทับ และพระองค์เจ้าชื่น[2] นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวให้ข้อมูลว่า "มารดาเจ้ามิตร" ถูกจับได้ว่าลักลอบคบหากับนายปิ่น กลาโหม จึงถูกเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ลงโทษด้วยการเฆี่ยน 700 ครั้งจนตายกับคา[5] ส่วนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์เองก็ถูกดำเนินคดีให้ข้อหาทำชู้เจ้าฟ้าสังวาลย์ ซึ่งเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชชนก อันเกิดจากการแก้แค้นของเจ้าสามกรม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ที่เคยถูกเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ลงอาญาเฆี่ยนมาก่อนหน้านี้ โดยกรมหมื่นเทพพิพิธ มีบทบาทสำคัญต่อการเฆี่ยนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์จนดับสูญพระชนม์[6]

ครั้นเมื่อถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมประทุมไม่ได้ถูกกวาดไปฝั่งเมืองพม่าด้วย หากแต่ถูกกักขังไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นที่ยังตกค้างอยู่[1] ต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นคืนจากสุกี้พระนายกอง จึงทรงรับอุปการะเจ้านายฝ่ายในจากกรุงเก่ามาชุบเลี้ยง ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุไว้ความว่า[1]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ในราชสำนักธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเองก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะชุบเลี้ยงเชื้อพระวงศ์จากกรุงเก่ามาเป็นบาทบริจาริกา ด้วยมุ่งหวังที่จะผสมสายเลือดเจ้าเก่าเข้ากับสายเลือดของพระองค์[1][7] เพราะทรงรับเจ้านายฝ่ายในจากราชสำนักอยุธยามาชุบเลี้ยงเป็นบาทบริจาริกาจำนวนสี่พระองค์ ได้แก่ เจ้ามิตร เจ้ากระจาด เจ้าอุบล และเจ้าฉิม โดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานพระนามใหม่แก่พระองค์ว่า "ประทุม" ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ตอนหนึ่งว่า[3]

"...บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ากระจาด ให้ชื่อว่าบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิต ประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."

อย่างไรก็ตาม เจ้านายเหล่านี้ล้วนขาดที่พึ่งในช่วงผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ การช่วงชิงอำนาจราชสำนักฝ่ายในจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าผู้หญิง หม่อมประทุมถูกรายล้อมไปด้วยเจ้าฝ่ายในที่เป็นศัตรูทางการเมืองของพระบิดา โดยเฉพาะหม่อมอุบล พระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ และหม่อมบุษบา พระธิดาในกรมหมื่นจิตรสุนทร เพราะบิดาของทั้งสองคือต้นเหตุที่ทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทิวงคต[1]

หม่อมประทุม มีบทบาทสำคัญต่อกรณี "ฝรั่งจับหนู" โดยกล่าวหาว่าหม่อมอุบลและหม่อมฉิม ทำชู้กับฝรั่งสองคนคือชิดภูบาลและชาญภูเบศร์ พร้อมนางรำอีกสี่คน ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[3]

"...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ 4 คน เปน 6 คนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า..."

ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสรุปว่าหม่อมอุบลและหม่อมฉิมทำชู้กับฝรั่งจริง หรือเป็นเพียงการใส่ความอันเกิดจากความอิจฉาริษยาของหม่อมประทุม[1][8]

กรณีนางห้ามประสูติเจ้า

กรณีนางห้ามประสูติเจ้าเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2312[9] เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังกรณีฝรั่งจับหนู ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการตั้งครรภ์และให้กำเนิดพระราชบุตรของนางห้ามนางหนึ่งในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งไม่ได้ระบุนามของนางห้ามนี้ในเอกสารไทยใด ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความฉงนพระทัยแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะเคยเรียกนางห้ามคนนี้มาถวายงานงานเพียงครั้งเดียว แต่กลับตั้งครรภ์ได้อย่างน่าพิศวง พระองค์รู้สึกระแวงพระทัยว่าเด็กที่เกิดมานั้นไม่ใช่พระราชบุตรของพระองค์ จึงสอบถามนางห้ามคนดังกล่าวว่าท้องกับใคร แต่นางห้ามผู้นั้นทูลตอบพระองค์ว่า "ท้องกับเจ๊ก" สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่พอพระทัยอย่างยิ่ง จึงจับนางห้ามผู้นั้นไปเฆี่ยนจนตาย[1] ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[10]

"...นางห้าม ประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่งว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้..."

ศาสตราจารย์ ขจร สุขพานิช แสดงความเห็นว่า นางห้ามประสูติเจ้านี้ น่าจะเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ซึ่งไม่ปรากฏพระนามของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยกล่าวไว้ว่า "...การที่ขุนหลวงตากทรงให้ประหาร "นางห้าม ประสูติเจ้า" นี้ดูจะเป็นเรื่องลึกลับชอบกล ดูประหนึ่งผู้ร่วมราชสกุลวงศ์ชั้นหลังคงอยากลืม หรืออยากปล่อยให้เรื่องเลือนรางหายไปเอง..."[11] ขณะที่ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายว่าเมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงลาผนวชใน พ.ศ. 2300–2301 พระราชธิดาพระองค์ใหญ่พระองค์นี้น่าจะประสูติช่วง พ.ศ. 2302–2304 เมื่อเปรียบเทียบอายุกับปีที่เกิดเหตุการณ์นางห้ามประสูติเจ้า พบว่าพระราชธิดาพระองค์นี้จะมีพระชันษาราว 10–11 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาได้[9] แต่ปรามินทร์ตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า บาทบริจาริกาที่เข้าข่ายเป็นนางห้ามประสูติเจ้ามีอยู่สองท่าน คือ หม่อมบุษบา และหม่อมประทุม ซึ่งทั้งสองมีเชื้อเจ้ามาแต่เดิม ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า "เจ้าเล็ก" เป็นพระราชโอรสที่ประสูติออกมา ก็ถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นยังเป็นเจ้าพระยาจักรีเสี่ยงพระราชอาญานำเจ้าเล็กไปเลี้ยง โดยเขาให้เหตุผลว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นเจ้าในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ปรามินทร์จึงสรุปว่าหม่อมประทุมน่าจะเป็นนางห้ามคนดังกล่าวมากกว่าหม่อมบุษบา[1][9] แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าเล็ก ก็ถูกประหารตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[12]

"...ประทมอยู่ แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อิก สมเด็จพระไอยกาทราบทรงพระดำริห์รแวงผิด จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอ ก็ทำตามกระแสรับสั่ง สำเร็จโทษเสีย..."

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา