ผลงาน ของ หม่อมหลวงรุจิรา_อิศรางกูร

โขน - ละครหลวง

ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6 - ต้นรัชกาลที่ 7 ขณะเขามีอายุได้ 10 ปี เริ่มหัดโขน ละครหลวง โดยฝึกโขน 8 ปี ได้ออกแสดงหน้าพระที่นั่งนับร้อยครั้ง และยังรับจ้างเล่นโขนตามงานวัดและหัวเมืองแถวกรุงเทพมหานคร เมื่อว่าง

นักแสดงเดี่ยว

เมื่อเขาเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้ชมไม่นานนัก เขาได้ไปแนะนำตัวกับ แม่เลื่อน (เลื่อน ไวนุนานิน) พระเอกยอดนิยมของ ละครคณะแม่เลื่อน ละครชื่อดังแห่งยุค ที่เวิ้งนาครเขษม[2] เขาขอแสดงละครเดี่ยวหน้าม่านสลับฉากประมาณ 20 นาที โดยใช้เพียงแก้วใบเดียวกับกล้องยานัตถุ์สำหรับเคาะแทนระฆังเริ่มแสดงบทรัก โศก ตลก ด้วยเสียงต่าง ๆ ไม่ซ้ำกันเป็น พระเอก นางเอก พ่อ แม่ ยาย และ เด็ก โดยผู้ชมปรบมือให้เป็นเวลานานด้วยความพอใจอย่างยิ่ง

ตลกหน้าม่าน

เขาเริ่มก้าวสู่เวทีใหญ่ชั้นนำของเมืองไทย ในฐานะนักแสดงจำอวดหน้าม่าน โรงละครศาลาเฉลิมกรุง ทำให้มีชื่อเสียงมากขึ้น

นักแสดงเดี่ยวละครวิทยุ

เขาได้พากย์ละครสั้นชุด มนุษย์ 6 เสียง กระจายเสียงแพร่หลายโด่งดังทั่วเมืองไทย

นักพากย์หนัง

จากความแรงของชื่อเสียงทำให้ มร.เค แอลลี ผู้จัดการโรงหนังศาลาเฉลิมนคร (โรงหนังวังเจ้าปรีดา ใกล้กองปราบสามยอด) เชิญเป็นนักพากย์หนังฝรั่งประจำโรง เมื่ออายุได้ราว 19-20 ปี เริ่มด้วยหนังรายได้สูงสุดของฮอลลีวู้ด ศพอาบยา ทางโรงขึ้นป้ายรองจากชื่อเรื่องว่า "พากย์โดย มนุษย์ 6 เสียง " ผลปรากฏว่า โปรแกรมยืนโรงยาวนานมากเพราะคนดูมืดฟ้ามัวดินแน่นทุกรอบทุกวัน[3] (เข้าใจว่าจะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญของยูนิเวอร์แซล The Mummy ค.ศ. 1932 / พ.ศ. 2475 ที่กำลังโด่งดังมากในขณะนั้น)

ปรากฏการณ์ผู้ชมล้นหลามอีกครั้ง คือเมื่อโรงหนังที่จังหวัดปราจีนบุรี เชิญไปพากย์เรื่อง สวรรค์ในอก นรกในใจ รอบพิเศษโดยยินดีออกค่าใช้จ่ายและค่าเดินทางให้ทั้งหมด ในวันฉายมีคนดูรวมทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงมารอหน้าโรงนับเป็นชั่วโมง

หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ผลงานเด่น (ในนาม รุจิรา - มารศรี) เช่น หนังญี่ปุ่น ไอ้โจรนกกระจอก ที่โรงหนังโอเดียน เรียกเสียงฮาตั้งแต่ตราบริษัทนำไตเติ้ล และหนังอินเดีย ธรณีกรรแสง ฉายนานถึงสองเดือนเศษ ที่โรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ทำรายได้ถล่มถลายราว 4 ล้านบาท (ตั๋วราคา 5 - 12 บาท) ทางโรงมอบแหวนเพชรให้หนึ่งวงเป็นรางวัลพิเศษนอกจากค่าพากย์รายสัปดาห์ ส่วนหนังฝรั่งก็ยังพากย์นับแต่หนังฮอลลีวู้ดกลับมาฉายในเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งมีผู้นิยมไม่แพ้หนังเสียงในฟิล์มต้นฉบับ

ดาราละครเวที

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ความรุ่งโรจน์ในอาชีพการแสดงมาถึงจุดสูงสุดเมื่อรับบทพระเอกละครเวทีเรื่อง วนิดา ที่ศาลาเฉลิมนคร ขณะทำงานควบคู่กับอาชีพนักพากย์ไปพร้อม ๆกัน และได้พบรักกับ มารศรี อิศรางกูร ซี่งเป็นนักแสดงละครเวที หลังจากแต่งงาน ทั้งคู่ยังเป็นนักพากย์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทยมาโดยตลอดในนามรุจิรา - มารศรี จนถึงยุคภาพยนตร์ ช่วงต้นทศวรรษ 2500

ดาราภาพยนตร์

หนังเรื่องแรก ๆ เช่น พระเจ้ากรุงธนบุรี (2495) ร่วมกับ ถนอม อัครเศรณี,สวลี ผกาพันธุ์ วายร้ายตลาดเก่า (2504) ร่วมกับพร้อมสิน สีบุญเรือง และสมชาย อาสนจินดา ระยะต่อมามักแสดงแนวตลก เช่น ม้ามืด (2513) ,มันมากับความมืด (2514) และอีกหลายเรื่องก่อนเกษียณวงการ เช่น ยิ้มสวัสดี (2521),[4]สาวเครือฟ้า (2523)

บทออกแนวตลกที่แสดงได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ มหาเถรกุโสดอ ใน ผู้ชนะสิบทิศ (2509-2510) ,ท่านขุนชราอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ใน เป็ดน้อย (2511) ,ท่านขุนเพลย์บอยรุ่นใหญ่พ่อพระเอกหนุ่มเพลย์บอย ใน เกาะสวาท หาดสวรรค์ (2512) ฯลฯ

งานพากย์ (ลงฟิล์ม) แทนเสียงดารานักแสดงบทต่าง ๆ เช่น เขาชื่อกานต์ (2516)

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเป็ดสวรรค์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล