พระประวัติ ของ หม่อมเจ้าอุษารดี_สวัสดิวัตน์

หม่อมเจ้าอุษารดี สวัสดิวัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2457 ณ บ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมเร่ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค) มีโสทรภราดาและโสทรภคินี 9 องค์ ได้แก่

  1. ศกุนตลา ปัทมะสังข์
  2. สุเลสลัลเวง สิริกาญจน
  3. อมิตตา ธรรมารักษ์
  4. หม่อมเจ้ามโนหรา สวัสดิวัตน์
  5. หม่อมเจ้าอำณอร์สวัสดิ สวัสดิวัตน์
  6. หม่อมเจ้าบุญทัดสวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
  7. หม่อมเจ้านรรยราช สวัสดิวัตน์
  8. หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์
  9. หม่อมเจ้าเมรี สวัสดิวัตน์

ปัจจุบันเหลือเพียง หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ ที่ยังมีชนม์ชีพอยู่

เมื่อมีชันษาได้ 7 ปี พระบิดาได้ถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าวังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีชันษาได้ 9 ปี จึงตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย ไปประทับ ณ วังสวนสุนันทา โดยเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนราชินี

หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เสด็จกลับมาประทับ ณ วังสระปทุม พร้อมมารดาและเจ้าน้องที่ยังไม่ออกเรือน โดยอยู่ในพระราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงทำหน้าที่รับใช้ถวายงานบนพระตำหนักใหญ่ และทำหน้าที่ตั้งเครื่องเสวยร่วมกับหม่อมราชวงศ์มาลัยพันธุ์ จักรพันธุ์ กระทั่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2498 จึงอยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาโดยลำดับ

หม่อมเจ้าอุษารดี สวัสดิวัตน์ ถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการหทัยเต้นผิดจังหวะ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 เวลาประมาณ 17.10 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สิริชันษาได้ 92 ปี 10 เดือน 24 วัน

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเป็ดสวรรค์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล