เกียรติประวัติ ของ หยัด_ช้างทอง

แผนผังระยะเวลาการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ

หยัดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับมอบท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นหน้าพาทย์สูงสุดและมีความศักดิ์สิทธิ์ในทางนาฏศิลป์ไทย จากนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ณ โรงละครพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 พร้อมกับศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากรท่านอื่นอีก 3 คน คือ อาคม สายาคม อร่าม อินทรนัฏ และยอแสง ภักดีเทวา[2][3]

ต่อมาอร่าม อาคม และยอแสง ถึงแก่กรรม ผู้ที่จะสามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงเหลือเพียง 2 คน คือนายรงภักดี และหยัด แต่นายรงภักดีก็ชรามากจนไม่สามารถจะรำได้ จึงเหลือเพียงหยัดแต่เพียงผู้เดียวที่ยังสามารถรำได้ แต่ถ้าปล่อยให้กาลเวลาล่วงนานต่อไป หยัดก็จะชราและไม่สามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นาฏศิลปินโขนฝ่ายยักษ์ของกรมศิลปากรรวม 7 คน เข้ารับการต่อกระบวนรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ในการต่อกระบวนรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ หยัดได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) จนนาฏศิลป์โขนฝ่ายยักษ์ทั้ง 7 คน สามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ หน้าพระที่นั่งได้อย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาด นับว่าหยัด เป็นกำลังอันสำคัญผู้หนึ่งในการต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพในครั้งนั้น