ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ หยาดน้ำค้าง_(สกุล)

หยาดน้ำค้างเป็นพืชหลายปี (มีไม่กี่ชนิดที่เป็นพืชปีเดียว) โตชั่วฤดู มีรูปแบบเป็นใบกระจุกทอดนอนไปกับพื้นหรือแตกกิ่งก้านตั้งตรงกับพื้นดิน มีขนาดความสูง 1 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิด ในชนิดที่มีรูปแบบลำต้นเลื้อยไต่สามารถยาวได้ถึง 3 เมตร เช่น ชนิด D. erythrogyne[2] หยาดน้ำค้างสามารถมีช่วงชีวิตได้ถึง 50 ปี[3] พืชสกุลนี้มีความสามารถในการดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้เพราะหยาดน้ำค้างขนาดเล็กจะไม่มีเอนไซม์ (โดยเฉพาะไนเตรทรีดักเตส[4]) ที่ต้นไม้ทั่วไปใช้ดูดซึมสารประกอบไนโตรเจนในดิน

ลักษณะวิสัย

หัวใต้ดินของ D. zonaria, หยาดน้ำค้างชนิดที่มีหัว จะเริ่มต้นเติบโตในฤดูหนาว

สกุลสามารถแบ่งได้ตามรูปแบบการเจริญเติบโต:

  • หยาดน้ำค้างเขตอบอุ่น (Temperate Sundews): เป็นชนิดที่เป็นกลุ่มใบคลี่ออกหนาแน่นหรือที่เรียกว่าหน่องันที่จำศลีในฤดูหนาว มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป Drosera arcturi จากออสเตรเลีย (รวมทั้งแทสมาเนีย) และนิวซีแลนด์เป็นอีกหนึ่งชนิดของหยาดน้ำค้างเขตอบอุ่นที่ตายลงกลับไปสู่หน่องันรูปเขาสัตว์
  • หยาดน้ำค้างใกล้เขตร้อน (Subtropical Sundews): หยาดน้ำค้างชนิดนี้เป็นการเติบโตไม่อาศัยเพศมีวงจรการเติบโตเพียงหนึ่งรอบปีภายใต้ภูมิอากาศใกล้เขตร้อนหรือเกือบใกล้เขตร้อน
  • หยาดน้ำค้างแคระ (Pygmy Sundews): มีประมาณ 40 ชนิดในออสเตรเลีย มีขนาดเล็กมาก มีการสร้างหน่อ (เจมมา) สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และมีขนหนาแน่นบริเวณกะบังรอบตรงกลาง ซึ่งขนเหล่านี้ใช้ปกป้องต้นไม้จากแสงอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ในฤดูร้อนของทวีปออสเตรเลีย หยาดน้ำค้างแคระได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Bryastrum
  • หยาดน้ำค้างมีหัว (Tuberous Sundews): มีเกือบ 50 ชนิดในประเทศออสเตรเลีย ที่มีหัวอยู่ใต้ดินเพื่อจะได้มีชีวิตรอดจากฤดูร้อนที่สุดโต่งในถิ่นที่อยู่อาศัย และจะแตกใบใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือลำต้นใบกระจุกแบบกุหลาบซ้อนและลำต้นแบบเลื้อยไต่ หยาดน้ำค้างมีหัวได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Ergaleium
  • หยาดน้ำค้าก้านใบเป็นปมตรงปลาย (Petiolaris Complex): กลุ่มของหยาดน้ำค้างเขตร้อนของประเทศออสเตรเลียที่ถิ่นอาศัยมีอากาศอบอุ่นคงที่แต่ปัจัยความเปียกชื้นไม่สม่ำเสมอ มีประมาณ 14 ชนิดที่วิวัฒนาการเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมแห้งแล้งแต่ผันผวนนั้น เช่น มีขนปกคลุมก้านใบหนาแน่น ซึ่งจะรักษาความชุ่มชื้นไว้ และเพิ่มผิวสำหรับการควบแน่นน้ำค้างยามเช้า

ถึงแม้ว่าหยาดน้ำค้างเหล่านี้ไม่ได้เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตแบบเดียวกันอย่างชัดเจน แต่มักจะรวบกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน:

  • หยาดน้ำค้างควีนแลนด์ (Queensland Sundews): เป็นกลุ่มเล็กมี 3 ชนิด (D. adelae D. schizandra และ D. prolifera) ทั้งหมดเติบโตในถิ่นที่อยู่ที่มีความชื้นสูงในร่มเงาของป่าฝนประเทศออสเตรเลีย

ใบและกับดัก

ใบและหนวดที่เคลื่อนไหวได้ของ D. capensisบางส่วนของใบ D. filiformis var. tracyi ซึ่งจับแมลงได้

หยาดน้ำค้างมีต่อมหนวดจับ ที่ปลายของหนวดมีสารคัดหลั่งเหนียวปกคลุมแผ่นใบ กลไกการจับและย่อยเหยื่อปกติใช้ต่อมสองชนิด ชนิดแรกคือต่อมมีก้านที่หลั่งเมือกรสหวานออกมาดึงดูดและดักจับแมลง และหลั่งเอนไซม์ออกมาเพื่อย่อยแมลงนั้น ชนิดที่สองคือต่อมไร้ก้านที่ดูดซึมสารอาหารที่ได้จากการย่อย (หยาดน้ำค้างบางชนิดไม่มีต่อมไร้ก้าน เช่น D. erythrorhiza) เหยื่อขนาดเล็กซึ่งส่วนมากจะเป็นแมลงจะถูกดึงดูดโดยสารคัดหลั่งรสหวานที่หลั่งออกมาจากต่อมมีก้าน เมื่อแมลงแตะลงบนหนวด แมลงก็จะถูกจับไว้ด้วยเมือกเหนียว และในที่สุดเหยื่อก็จะยอมจำนนต่อความตายด้วยความเหนื่อยอ่อนหรือการขาดอากาศหายใจเพราะเมือกจะห่อหุ้มตัวและอุดทางเดินหายใจของเหยื่อนั้น ซึ่งส่วนมากจะกินเวลา 15 นาที[5] ต้นไม้จะหลั่งเอนไซม์ เอสเทอร์เรส, เพอร์ออกซิเดส, ฟอสฟาเตส และ โปรตีเอส[6]ออกมา เอนไซม์เหล่านี้จะย่อยและปลดปล่อยสารอาหารออกจากแมลง สารอาหารจะถูกดูดซึมผ่านทางผิวใบเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไป

ขนติ่งของ D. indica

หยาดน้ำค้างทุกชนิดสามารถเคลื่อนไหวหนวดของมันได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นจะตอบสนองต่อการสัมผัสของเหยื่อ หนวดจะไวต่อการกระตุ้นอย่างมากและจะงอเข้าหากลางใบเพื่อนำเหยื่อมาสัมผัสกับต่อมมีก้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามคำกล่าวของชาลส์ ดาร์วิน การสัมผัสของขาแมลงขนาดเล็กกับหนวดของหยาดน้ำค้างเพียงหนวดเดียวก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองนั้นได้[5] การตอบสนองต่อการสัมผัสเรียกว่าทิกมอทรอปิซึม (thigmotropism, การเคลื่อนไหวของพืชโดยมีสัมผัสเป็นสิ่งเร้า) และในหยาดน้ำค้างบางชนิดการตอบสนองนี้จะเกิดรวดเร็วมาก หนวดรอบนอกของ D. burmannii และ D. sessilifolia สามารถงอเข้าสู่ภายในภายในไม่กี่วินาทีเมื่อถูกสัมผัส ในขณะที่ D. glanduligera สามารถงอหนวดรัดเหยื่อได้ในสิบวินาที[7] หยาดน้ำค้างบางชนิดสามารถงอแผ่นใบได้หลายองศาเพื่อให้สัมผัสเหยื่อมากที่สุด D. capensis มีการเคลื่อนไหวที่น่าทึ่งที่สุด ใบของมันจะงอล้อมรอบตัวเหยื่อได้ใน 30 นาที และในหยาดน้ำค้างบางชนิดอย่างเช่น D. filiformis ไม่สามารถงอใบตอบสนองเหยื่อได้[8]

ในหยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิด (D. hartmeyerorum, D. indica) มีรูปแบบขนติ่ง (แข็งมีสีแดงหรือเหลือง) เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจจะใช้ในการช่วยจับเหยื่อ แต่หน้าที่แท้จริงของมันนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

รูปร่างสัณฐานของใบในสกุลหยาดน้ำค้างนั้นมีความหลากหลายแบบสุดโต่ง มีตั้งแต่ใบรูปไข่ไร้ก้านของ D. erythrorhiza จนถึงใบรูปเข็มกึ่งแบบขนนกสองชั้นของ D. binata

ดอกและผล

ดอกของ D. kenneallyi

ดอกของหยาดน้ำค้างคล้ายกับพืชกินสัตว์ชนิดอื่นๆที่ชูดอกอยู่เหนือใบของมันด้วยก้านดอกที่ยาว การที่ดอกและกับดักอยู่ห่างกันนั้นน่าจะเกิดจากการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พาหะถ่ายเรณูมาติดกับดักของมัน อย่างไรก็ตาม มีการแสดงว่าหยาดน้ำค้างดึงดูดแมลงต่างชนิดกันสำหรับพาหะถ่ายเรณูและเหยื่อซึ่งชนิดของแมลงทั้งสองประเภทนั้นคาบเกี่ยวกันเพียงเล็กน้อย[9] ความสูงของก้านดอกนั้นอาจเป็นไปได้ที่ใช้ยกดอกให้สูงขึ้นเพื่อให้พาหะถ่ายเรณูสนใจ ส่วนมากช่อดอกจะเป็นช่อเชิงลด ดอกจะบานออกโดยการตอบสนองต่อความเข้มของแสง(เปิดเฉพาะเมื่อได้รับแสงแดดโดยตรง)และดอกจะเบนตามแสงแดดโดยตอบสนองต่อพระอาทิตย์

ดอกของหยาดน้ำค้างจะเป็นวงกลมสมมาตรกัน มีห้ากลีบ (ยกเว้นในบางชนิดที่มีสี่กลีบดอก; D. pygmaea และแปดถึงสิบสองกลีบดอก; D. heterophylla) โดยมากมีดอกขนาดเล็ก (<1.5 ซม. หรือ 0.6 นิ้ว) อย่างไรก็ตาม มีหยาดน้ำค้างสองสามชนิด เช่น D. regia และ D. cistiflora ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 4 ซม. (1.5 นิ้ว) หรือมากกว่า[8] ทั่วไปแล้วดอกมีสีขาวหรือชมพู แต่ชนิดที่ขึ้นในประเทศออสเตรเลียกลับมีสีที่หลากหลาย เช่น สีส้ม (D. callistos), สีแดง (D. adelae), สีเหลือง (D. zigzagia) หรือสีม่วง (D. microphylla)

หยาดน้ำค้างมีรังไข่เป็นรังไข่แบบสูงกว่าและพัฒนามาเป็นผลแห้งแตกที่ภายใบบรรจุไปด้วยเมล็ดเล็กๆมากมาย

ราก

Drosera anglica กับเหยื่อ

ระบบรากของหยาดน้ำค้างเกือบทุกชนิดจะมีการวิวัฒนาการน้อยมาก เพราะหน้าที่หลักของมันมีแค่ดูดซับน้ำและยึดต้นไม้กับกับพื้น หยาดน้ำค้างแอฟริกาสองสามชนิดใช้รากเป็นที่เก็บสะสมน้ำและอาหาร บางชนิดมีระบบรากจริงที่เหลืออยู่ระหว่างฤดูหนาวถ้าลำต้นตายลง บางชนิด เช่น Drosera adelae และ Drosera hamiltonii ใช้รากของมันสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยแตกหน่อจากรากของมัน หยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิดมีหัวใต้ดินเพื่อให้ต้นไม้รอดตายในฤดูร้อนที่แห้งแล้ง รากของหยาดน้ำค้างแคระบ่อยครั้งที่มันมีรากที่ยาวมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดของต้น 1 ซม.มีรากยาวมากกว่า 15 ซม.จากผิวดิน หยาดน้ำค้างแคระบางชนิด เช่น D. lasiantha และ D. scorpioides มีระบบรากวิสามัญ หยาดน้ำค้างชนิด Drosera intermedia และ D. rotundifolia มีรายงานว่าพบรูปแบบอาบัสคูลาไมคอไรซาแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อของพืช[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: หยาดน้ำค้าง_(สกุล) http://isis.library.adelaide.edu.au/pg/etext04/ins... http://www.growsundews.com http://www.plantarara.com/carnivoren_information/k... http://www.sarracenia.com/faq.html http://www.smugmug.com/search/index.mg?searchWords... http://www.springerlink.com/content/x7151p60502078... http://www.terraforums.com/ib312/ikonboard.cgi?s=d... http://virtuelle.gefil.de/~chrusty/droserakeyeng.h... http://www.wwf.de/fileadmin/fm-wwf/pdf-alt/arten/m... http://www.wwf.de/imperia/md/content/pdf/arten/med...