ชีวประวัติหน้าที่การงาน ของ หลวงลิขิตปรีชา_(ปลอบ_โรจนกุล)

เมื่อ พ.ศ. 2362 สมัยรัชกาลที่ 2 หลวงลิขิตปรีชาได้ทูลละอองแปล "เลียดก๊ก พงศาวดารจีน" [10] โดยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการพร้อมกับ ขุนมหาสิทธิโวหาร พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัว กรมหมื่นนเรศร์โยธี หลวงญาณปรีชา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) พระยาโชดึกราชเศรษฐี หลวงวิเชียรปรีชา ขุนท่องสื่อ จมื่นไวยวรนาถ นายเล่ห์อาวุธ และจ่าเรศ ดังปรากฏในย่อหน้าที่ 3 ของพงศาวดารเล่มนี้ว่า "ห้องสินแลในเลียดก๊กนั้น ว่าด้วยพระเจ้าบู๊อ่องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้าหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ชำระขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย"

เมื่อ พ.ศ. 2368 สมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีระกาสัพศก [11] [12] [13] [14] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยวงศ์ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย ได้จัดข้าทูลอองธุลีพระบาทสนองพระบัณฑูรสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย) ให้ชำระคัมภีร์สาตรพยากรณ์ฤกษบนล่าง วิทธีวิชาไมยมนต์เลกยันต์แลอาถันข่มนาม และพระราชพิทธีข่มนามที่พยุหะ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชาเชิญตำรับ "พระพิไชยสงคราม"พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระสมุดพระราชตำรับจำนวน 14 เล่ม เป็นตำราลับปกปิดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงแต่งขึ้นเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก ตรงกับ พ.ศ. 2041 [15] โดยชำระพร้อมกับพระยาบำเรอบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก พระมหาวิเชียรธรรม จางวางราชบัณฑิต พระโหราธิบดี จางวางโหรพระราชวังหลัง พระเทวะโลกย์ จางวางโหร หลวงสุธรรมมาจารย์ หลวงไตรเพทวิไศรย หลวงญาณเวทและขุนโลกยพรหมา ปลัดกรม ดังความว่า [16] "...พระเจ้าน้องยาเธอรับพระราชปริหาญ จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีสติปัญญา ได้ พระยาบำเรอบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ๑ พระมหาวิชาธรรม ๑ จางวาง ราชบัณฑิต ๑ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ๑ หลวงสุธรรมาจารย์ ๑ พระโหราธิบดี จางวางโหร ๑ หลวงญาณเวท ๑ หลวงไตรเพทวิไศรย ๑ ขุนโลกยพรหมา ปลัดกลม ๑ รวม ๙ นาย พระเจ้าน้องยาเธอเป็นแม่กอง ครั้น ณ วัน ๕ ๖ ๘ ค่ำ ปีระกาสัพศก พร้อมกัน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เชิญพระตำรับพระพิไชยสงครามข้างที่ออกมาเป็นสมุดพระราชตำรับ ๑๔ เล่ม ให้ลงมือจับชำระสอบสวนกันที่ฟั่นเฟือนวิปลาดซ้ำกันก็วงกาตกเต็มให้ถูกถ้วนแล้วขึ้นกราบทูลพระกรุณา ทุกเวลาเสด็จออกวถายสังฑภัตทาน ทรงฟังเทศนาเช้าเย็น ภอพระทัยบ้าง ทรงชำระวงกาดัดแปลงบ้าน โปรดให้ออกมาเรียบเรียงชำระใหม่บ้าง แต่ได้ชำระพระตำรับพระพิไชยสงคราม ณ วัน ๕ ๖ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัพศก จนถึง ณ วัน จึงสำเร็จ ให้คัดส่งเข้าไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งไว้ ณ หอหลวงฉบับหนึ่ง..."และได้ร่วมนิพนธ์วรรณกรรมในรัชกาลที่ 1 เรื่อง "ศิริวิบุลยกิตต์" ซึ่งเป็นเพลงยาวกลบทและกลอักษรกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงนายชาญภูเบศร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ขุนธนสิทธิ์และจ่าจิตร์นุกูล

ภาพแสดงการลำเลียงกองทัพไปเมืองพระตะบอง

ช่วงรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นมีสงครามระหว่างเขมร และญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้จัดกองทัพเพื่อยกไปเมืองพระตะบอง ใกล้กับจังหวัดจันทบุรี ณ วันเดือนยี่ ปีกุนเอกศก กรมอาลักษณ์ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมขณะนั้นเป็นนายทัพ พร้อมเสื้อพระราชทานนายทัพ ดอกถี่ 1 ชุด ได้จัดบัญชีแก่กองทัพเจ้าคุณจำนวน 2 คน เป็นนาย 1 คน และไพร่ 1 คน และขุนสาราบรรจง ปลัดกรมขวา เป็นนายกอง พร้อมเสื้อพระราชทานนายกอง ดอกลาย 1 ชุด จัดกำลังขุนหมื่นในกรมจัดกำลังจำนวน 25 คน ประกอบด้วยขุนหมื่นในกรม 7 คน ช่างสมุด 6 คน ช่างสมุดเลว 9 คน นาย 2 คน และ ไพร่ 1 คน ตามลำดับ ดังปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่ม 41 ภาคที่ 66 (ต่อ) – 67 เรื่อง จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี เล่าเรื่องไปชะวา ครั้งที่ 3 ฉบับที่ 2 บัญชีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อยกไปเมืองพระตะบอง หน้า 180 วรรคที่ 2 ความว่า"กรมอาลักษณ์ หลวงลิขิตปรีชา นาย ๑ ไพร่ ๑ เป็น ๒ ขุนสาราบรรจง ๑ ขุนหมื่นในกรม ๗ ช่างสมุด ๖ เป็น ๑๓ ช่างสมุดเลว ๙ นาย ๒ ขุนหมื่น ๒๒ เป็น ๒๔ ไพร่ ๑ เป็น ๒๕"

เมื่อ พ.ศ. 2379 สมัยรัชกาลที่ 3 [17] [18] ภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพไปยังเมืองพระตะบองแล้วนั้น จึงได้มีการสร้างเมืองพระตะบองและบูรณะซากปรักหักพังที่เสียหาย หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ รับสั่งจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ให้แต่งคำประพันธ์ประกอบศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง ลักษณะคำประพันธ์ที่หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) แต่งขึ้นเป็นโครงสี่สุภาพสลับกาพย์ฉบับ 16 โดยความคำประพันธ์ที่จารึกผนังด้านทิศตะวันออก กล่าวถึงหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) เป็นผู้แต่ง [19] และการสร้างป้อมต่างๆ จำนวน 6 ป้อม

ตัวอย่างคำประพันธ์

อาลักษณ์ศักดิ์ยศพร้องสมญา
หลวงลิขิตปรีชาชื่ออ้าง
นิพนธ์สรรพ์พจนาโคลงพากย์ ฉันท์เอย
แนะตรนักนามป้อมสร้างสฤษดิ์ไว้เปนเฉลิม ฯ
ป้อมนารายน์นารายน์ทรงจักรแก้วฤทธิรงค์
ประหารประหัตดัษกร
ป้อมเสือเสือร้ายแรงขจรในด้าวดงดอน
จัตุบาทฤๅอาจเทียบทัน
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง

ส่วนคำประพันธ์ในจารึกผนังด้านทิศตะวันตก กล่าวถึงเหตุการณ์สร้างเมืองพระตะบองและยังกล่าวถึงการอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยรักษาคุ้มครองเมือง ซึ่งศิลาจารึกส่วนนี้เป็นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เนื่องด้วยเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองไว้เพื่อป้องกันศัตรู

ตัวอย่างคำประพันธ์

ปางปิ่นอดิศวรผู้ทรง ทศพิธธำรง
จารีตราชประเพณี
เฉลิมดิลกพิภพศรีอยุทธเยศบุรี
พระเกียรติเกริ่นธราดล
สถิตยพระโรงรัตนโสภณพร้อมหมู่มุขมน–
ตรีชุลีกรเดียรดาษ
บัดเอื้อนราโชยงการประภาษสั่งตูข้าบาท
ผู้รองเบื้องมุลิกา
ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง

เมื่อ พ.ศ. 2390 สมัยรัชกาลที่ 3 [20] หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) รับสั่งจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ให้แปลหนังสือ “องเลโบ” อักษรญวนออกเป็นไทย รวมทั้งให้เป็นผู้พาพญาราชเดชกับพญาธนาบดี องค์ญวนของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทั้ง 2 องค์เข้ามาแจ้งราชการที่กรุงเทพด้วย เมื่อแปลเสร็จแล้วหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดี ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า “ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมรเข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชา ฯ คิดราชการถูกอุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถิงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอกจัตวาศนับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อ ณ วัน ๕ ๗ ค่ำ ปีมะแมนพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบ็ญจศกช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้”

เมื่อ พ.ศ. 2395 สมัยรัชกาลที่ 4 [21] หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) รับสั่งให้ชำระตำรา “พระสมุดโคลงแผนม้า ตำราพุกาม ฉบับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ” โดยชำระพร้อมกับขุนจำนงสุนทร (ตาด) ปลัดกรมซ้าย เมื่อวันพฤหัสบดีเดือนสิบ ขึ้นห้าค่ำ ปีชวดจัตวาศก ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม

หลวงลิขิตปรีชายังได้แต่งคำโคลงจารึก [22] [23] และแต่งหนังสือต่างๆ ปรากฏหลักฐานในคำประพันธ์บทหนึ่ง [24] ความว่า “...ฉันทพากย์เพลงโคลงคล่อง สองหลวงว่องโวหาร ชาญภูเบศร์สมญา ลิขิตปรีชาเฉลียวอรรถ เจนแจ้งจัดทุกอัน ร่วมสังสรรค์เสาวพจน์...”

เช่น

ภาพจารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 20 (กลบทพระจันท์ธรงกลด) พบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร1. จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน ท่าที่ 27 (ท่าดัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว)จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกาลสิทธิ์ (ฤๅษีปู่เจ้าสมิงพราย) แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าตัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ ด้วยการใช้มือหนึ่งเหนี่ยวไหล่ กดปลายนิ้วลงเหนือซอกรักแร้ และอีกมือหนึ่งหน่วงข้อเท้า โดยกดหัวแม่มือกดลงที่เอ็นเหนือตาตุ่มด้านใน จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร2. จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน ท่าที่ 45 (ท่าดัดตนแก้เท้าเย็นสบาย ใจสวิงสวาย)จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกบิล แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าดัดตนแก้เท้าเย็น ใจสวิงสวาย โดยการไขว้เท้าหนึ่งไปวางบนตักของอีกข้างหนึ่ง ซึ่งถูกสองมือกุมเข่า รัดแข้งยกเอาไว้จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร3. จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา แผ่นที่ 31 (ภาพเขมร) [25]เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติเขมรว่ามีผิวดำ นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่งกายโดยนุ่งผ้าปูม สวมเสื้อสีคราม คาดแพรเยื่อไม้ของญวนที่สะเอว และไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ไม่ไว้ไรผม จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร4. จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา แผ่นที่ 32 (ภาพลิ่วขิ่ว) [26]เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติลิ่วขิ่ว ว่ามีการเกล้าผมมวยเหมือนจุกเด็ก สวมเสื้อสีหมากสุกยาวคลุมเข่า โพกศีรษะ บ้านเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และมีการถวายบรรณาการแด่จีนจารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร5. จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 8 (กลบทกินรเกบบัว)จารึกกลบทกินรเกบบัว มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความชอกช้ำใจจากหญิงคนรักที่กลับห่างเหินไป6. จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 20 (กลบทพระจันท์ธรงกลด)จารึกกลบทพระจันท์ธรงกลด มีคำจารึก 22 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความโศกเศร้าเพราะการพลัดพรากจากหญิงคนรัก7. จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร แผ่นที่ 39 (กลบทก้านต่อดอก)จารึกกลบทก้านต่อดอก มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความทุกข์ระทมที่ต้องอยู่ห่างไกลจากหญิงอันเป็นที่รัก8. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (พ.ศ. 2374-2381) (จารึกวัดโพธิ์) หมวดวรรณคดี ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำของโลก [27] [28] เมื่อ พ.ศ. 2551 โดย คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)9. พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 5 เล่ม 2 [29]10. นิราศสรวมครวญ [30] [31]นิราศสรวมครวญเป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยโคลงสุภาพชาตรีจำนวน 186 บท และใช้ร่ายสุภาพปิดท้ายโคลงนิราศ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชาร่วมแต่งกับขุนสาราบรรจง ขุนจำนงสุนธร และนายเวรจำลอง ภายหลังหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนีได้ตรวจสอบ ชำระใหม่และเขียนเพิ่มเติมเป็นฉบับ นรินทร์จัน-ประชันนรินทร์อิน ทรงใช้นามปากกาว่า “พ.ณ.ประมวญมารค”

ตัวอย่างคำประพันธ์

เทเวนทรวาสุเทพท้าวผทมสินธุ์
อ่อนอาสน์อุรัคคินทร์ค่ำเช้า
ทรงสังข์จักราจิณเจนหัตถ์
หลับอย่าลืมละเจ้าปิ่นไท้ผไทสยาม
นิราศสรวมครวญ
11. เพลงยาวเรื่อง กำนันหลอกพรานเพลงยาวเรื่อง กำนันหลอกพราน [32] เป็นนิทานบันเทิงคดีที่หลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่วมแต่งกับนายนาน บางขุนพรหม เป็นเพลงยาวมีความยาว 27 บท ไม่ปรากฏปีที่แต่งแน่ชัด เพลงยาวนิทานดังกล่าวถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวชิรญาณวิเศษ [33] (วารสารที่ออกในนามหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระบรมราชตระกูล) หมวดนิทานคำกลอน เล่ม 8 แผ่นที่ 20 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับ พ.ศ. 2435 ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (ขณะนั้นทรงพระอิสริยายศ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา) ทรงเป็นกรรมสัมปาทิก (คณะบรรณาธิการ) ปีที่ 12 และสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ (ปัจจุบันคือสำนักหอสมุดแห่งชาติ) ในขณะนั้น และเพลงยาวเรื่อง กำนันหลอกพราน ถูกตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ นิทานวชิรญาณ เล่ม 1 [34] เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

ตัวอย่างคำประพันธ์

นิทานนี้ท่านผู้เถ้าเล่าแถลง
จริงหรือเท็จอยู่กับคนต้นแสดงหวังชี้แจงแต่ผู้เขลาเยาว์ปัญญา
เปนคติจะช่วยเตือนอย่าเฟือนหลงเร่งดำรงยั้งใจให้นักหนา
อันกลลวงหลายอย่างทางพูดจาใครเสียทีเสียท่าน่าหัวเราะ
กำนันหลอกพราน

นอกจากนี้ยังได้แต่งตำรับพุทธศาสตร์ "ตำรานพรัตน์" [35] [36] [37] ประกอบในตำราไสยศาสตร์ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่า "วชิรํ รัตตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รัตฺตกาฬมิสิสกํ โอทาตปีตมิสสฺกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตตาหารญจาติ อิมานิ นวากาทีนิ รตนานิ ตฺสมา รตนชาติ โย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปปชฺชนตีติ เวทิตฺพพา" ซึ่งท่านร่วมกันสอบตำราพร้อมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) พระมหาวชิรธรรรม หลวงภักดีจินดาและนายชมรวมถึงบรรดากวีท่านอื่น ๆ ที่ได้ร่วมนิพนธ์กับหลวงลิขิตปรีชาช่วงรัชกาลที่ 3 เช่น พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนธนสิทธิ์ หมื่นพรหมสมพัตรสร หมื่นนิพนธ์อักษร ครูแจ้ง นายเกตุ นายช้าง นายนก นายพัต และกวีหญิงอีก 2 ท่านคือ คุณพุ่มและคุณสุวรรณ

หลวงลิขิตปรีชาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมิชชันารีและโรงเรียนวัด ไม่ปรากฏแน่ว่าชัดที่ใด ได้เป็นปลัดกรมกองรายงานหนังสือไปมา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) และราชเลขานุการในพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือเวียนไปมา งานพระราชพิธี พระสุพรรบณัฏ งานแปลหนังสือ นิพนธ์หนังสือตำราคำกลอนร่วมกับกรมราชบัณฑิต กรมโหร และหนังสือราชการต่างๆ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯพระมหากษัตริย์ ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 – 2398) กวีราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และอาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าจุฑามณี) ดำรงตำแหน่งจางวางกรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ถือศักดินา 2500 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามั่ง กรมพระยาเดชาดิศรทรงดูแลกับกรมกรมพระอาลักษณ์[38]

พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ผู้ค้นคว้า รวบรวม และบันทึกเรื่องราวของสุนทรภู่ ได้เขียนบันทึกคำกล่าวของพระอมรสินธพ (นก) ซึ่งเล่าว่า “เวลานั้น ใบฎีกามี ของสมเด็จพระปรมา [39] ได้เป็นหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์ ถือความมั่งมีภาคภูมิเต็มที่อย่างขุนนางโบราณคือ บ่าวไพร่นุ่งห่มร่มค้างคาว กล้องยาแดงกาน้ำเป็นต้น สุนทรภู่ถึงเป็นจางวางก็จริง แค่ลดความมั่งมีให้ท่านเจ้ากรม เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน ยอมเป็นผู้ที่ ๒ ไม่ตีตนเสมอเลย”

ใกล้เคียง