ประวัติ ของ หลาและปอนด์สากล

อาคารรัฐสภาสหราชอาณาจักรถูกเพลิงไหม้เสียหายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1834 ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นรวมไปถึงตุ้มน้ำหนักและแท่งความยาวมาตรฐานสำหรับหน่วยชั่งตวงวัดแบบอังกฤษซึ่งเก็บรักษาอยู่ภายในด้วย รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงจัดทำหน่วยวัดมาตรฐานขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหน่วยวัดมาตรฐานที่เสียหายซึ่งเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1855 แท่งความยาวมาตรฐานหนึ่งหลาหรือ "ไม้หลา" จำนวนสองแท่งถูกส่งไปยังสหรัฐเพื่อให้ใช้เป็นหน่วยมาตรฐานของสหรัฐด้วย

ต่อมาใน ค.ศ. 1866 รัฐสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้หน่วยวัดระบบเมตริกในการค้าได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดให้เป็นหน่วยหลักก็ตาม ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีตารางสำหรับแปลงหน่วยระหว่างระบบอังกฤษและระบบเมตริก ซึ่งรวมถึงนิยามความยาวหนึ่งเมตรเทียบกับหนึ่งหลา และหนึ่งกิโลกรัมเทียบกับหนึ่งปอนด์ หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1893 ได้มีคำสั่งเมนเดนฮอลล์ให้เปลี่ยนมาตรฐานความยาวในสหรัฐจากเดิมที่อิงตามมาตรฐานของอังกฤษไปอิงตามระบบเมตริกแทน[2][3] ซึ่งมาจากเหตุปัจจัยสองประการ ประการแรกได้แก่แท่งความยาวมาตรฐานที่ได้รับมาจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1855 พบว่าไม่เสถียรและหดสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ประการที่สองได้แก่สหรัฐร่วมลงนามในอนุสัญญาเมตริกเมื่อ ค.ศ. 1875 และได้รับแท่งความยาวมาตรฐานเมตริกซึ่งถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานต่อไป

ในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดใน ค.ศ. 1897 โดยอนุญาตให้ใช้ระบบเมตริก[4] และได้ออกประกาศสภาองคมนตรีฉบับที่ 411 (ค.ศ. 1898) กำหนดหน่วยเมตรและกิโลกรัมตามหน่วยหลาและปอนด์[5] นิยามของสหราชอาณาจักรจะนิยามกลับกันเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้ความยาวหนึ่งหลาอังกฤษมีค่าเท่ากับ 36/39.370113 เมตร[6]

ขณะเดียวกันในทศวรรษ 1890 อัลเบิร์ต อะบราฮัม ไมเคิลสันได้ทำการทดลองเกี่ยวกับอินเทอร์เฟอโรเมทรี เขาได้ข้อสรุปใน ค.ศ. 1903 และเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าสามารถใช้คลื่นแสงเพื่อกำหนดหน่วยความยาวได้ ใน ค.ศ. 1908 นักวิจัยสองคณะซึ่งคณะหนึ่งนำโดยไมเคิลสันได้กำหนดหน่วยความยาวของแท่งความยาวเมตรมาตรฐานโดยใช้คลื่นแสง ต่อมาใน ค.ศ. 1927 สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศได้ยอมรับนิยามคลื่นแสงใน ค.ศ. 1908 เป็นมาตรฐานเพิ่มเติม[7]

ใน ค.ศ. 1930 สถาบันมาตรฐานแห่งสหราชอาณาจักร (บีเอสไอ) ได้ยอมรับนิยามความยาวหนึ่งนิ้ว ให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรตามข้อกำหนดที่ยอมรับใน ค.ศ. 1927 ในขณะที่สมาคมมาตรฐานแห่งสหรัฐ (เอเอสเอ) ยอมรับนิยามเดียวกันใน ค.ศ. 1933 และภายใน ค.ศ. 1935 ภาคธุรกิจใน 16 ประเทศได้ยอมรับนิยามดังกล่าวซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "นิ้วอุตสาหกรรม"[8][9] ใน ค.ศ. 1946 ที่ประชุมวิทยาศาสตร์เครือจักรภพแห่งอังกฤษได้แนะนำให้ประเทศในเครือจักรภพแห่งอังกฤษใช้นิยามความยาวหนึ่งนิ้วให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรพอดี และหนึ่งหลาหรือ 36 นิ้วให้เท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี[10][note 1] สมาคมมาตรฐานแห่งประเทศแคนาดา (ซีเอสเอ) ได้ยอมรับมาตรฐานดังกล่าวใน ค.ศ. 1951[11]

เดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 คณะกรรมการชั่งตวงวัดสากลได้แนะนำว่าหน่วยเมตรควรจะนิยามตามคลื่นแสงสีส้มจากอะตอมคริปทอน-86 ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวทำให้ผู้แทนจากหกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สหรัฐ และสหราชอาณาจักรตกลงที่จะให้นิยามหน่วยหลาสากลและปอนด์สากลอิงตามหน่วยเมตรและหน่วยกิโลกรัม โดยกำหนดให้หนึ่งหลาสากลเท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี และหนึ่งปอนด์สากลเท่ากับ 0.45359237 กิโลกรัมพอดี[1] หนึ่งหลาสากลสั้นกว่าหนึ่งหลาอิมพิเรียลประมาณ 2 ไมโครเมตร ในขณะที่หนึ่งปอนด์สากลเบากว่าหนึ่งปอนด์อิมพิเรียลประมาณ 0.6 มิลลิกรัม[12]

คณะกรรมาธิการมาตรฐานแห่งสหรัฐเริ่มใช้หน่วยหลาสากลและปอนด์สากลซึ่งบัญญัติตามระบบเมตริกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959[13][14] ในประเทศออสเตรเลีย หน่วยดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 142 ประจำ ค.ศ. 1961 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[15] ส่วนในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดให้ใช้หน่วยปอนด์สากลและหลาสากลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: หลาและปอนด์สากล http://www.comlaw.gov.au/Details/C2004L00578 http://www.nrcresearchpress.com/doi/abs/10.1139/p5... http://www.bailii.org/ew/cases/EWHC/Admin/2002/195... https://books.google.com/books?id=4aWN-VRV1AoC&pg=... https://books.google.com/books?id=4icyAAAAIAAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=CD0WAAAAYAAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=CEgJAQAAMAAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=WDgJAQAAMAAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=ey1wQgAACAAJ https://books.google.com/books?id=iwcMo9neBRMC&pg=...