การก่อสร้าง ของ หอดูดาววัดสันเปาโล

พระราชประสงค์ที่จะสร้างหอดูดาวให้บาทหลวง

การเดินทางเข้ามาของราชทูตฝรั่งเศส อาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง (เชอวาลีเย เดอ โชมง) เมื่อ พ.ศ. 2228 พร้อมบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 6 รูปที่จะเดินทางต่อไปปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ที่ประเทศจีนและต้องมาแวะที่สยามก่อนนั้น น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ราชสำนักสยามคิดจะให้มีการจัดสร้างหอดูดาวในสยาม

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงแสดงเจตจำนงให้ฝ่ายฝรั่งเศสทราบผ่านบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ทั้ง 6 รูปซึ่งได้เข้าเฝ้าที่เมืองลพบุรีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 ว่ามีพระราชประสงค์สร้างหอดูดาว ที่พัก และโบสถ์ที่พระนครศรีอยุธยาและที่เมืองลพบุรี เพื่อให้คณะบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ทั้ง 12 รูปที่พระองค์ทรงขอจากฝรั่งเศสได้ใช้สอยดำเนินงาน รวมทั้งจะทรงให้ความอนุเคราะห์และความคุ้มครองทุกประการเท่าที่พระองค์จะทรงกระทำได้

บาทหลวงนักคณิตศาสตร์ 6 รูปได้ถวายคำอธิบายแก่พระองค์ว่าดาราศาสตร์เป็นวิทยาการที่มีประโยชน์ และยังได้กราบทูลอีกว่าที่กรุงปักกิ่งก็มีหอดูดาวแล้ว และมีการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างหอดูดาวปักกิ่งกับหอดูดาวกรุงปารีส ฉะนั้นการมีหอดูดาวในสยามก็จะเพิ่มความถูกต้องให้กับความรู้เรื่องดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

จากนั้นไม่นาน บาทหลวงตาชาร์ระบุว่า มีรับสั่งให้ออกญาวิไชเยนทร์มาบอกแก่คณะบาทหลวงเยสุอิต 6 รูปว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างหอดูดาวขึ้นแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร และจักพระราชทานให้แก่พระบาทหลวงแห่งคณะเยสุอิตซึ่งพระองค์โปรดปรานมาก พระองค์ทรงปรารถนาให้ความคุ้มครองและให้ความอนุเคราะห์ทุกประการอันอยู่ในวิสัยที่พระองค์จะทรงกระทำได้

ฉะนั้น ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2228 คือเวลาแห่งการตัดสินใจว่าสมควรมีหอดูดาวที่เมืองลพบุรีและที่พระนครศรีอยุธยาซึ่งกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกับหอดูดาวที่กรุงปารีสและกรุงปักกิ่ง และจะขอความสนับสนุนบาทหลวงคณะเยสุอิตนักคณิตศาสตร์จากฝรั่งเศสจำนวน 12 รูปให้มาดำเนินงานในสยาม

หอดูดาวสร้างเสร็จก่อนโบสถ์

แผนที่เมืองลพบุรีเมื่อ ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) โดยเดอ ลา มาร์ แสดงที่ตั้ง "หอดูดาว" หรือ "วิทยาลัยเมืองลพบุรี" หรือ "วัดสันเปาโล" อยู่ในเขตเมืองชั้นนอกที่ขยายไปทางทิศตะวันออกหรือริมคูเมืองชั้นนอกด้านทิศตะวันออก ในภาพคือพื้นที่ด้านขวาของป้อมหกเหลี่ยมมุมล่างสุดของกำแพงเมือง เห็นส่วนอาคารหอดูดาวเป็นกรอบแรเงา และแนวโบสถ์ที่กำลังจะก่อสร้าง

จากหลักฐานแผนที่เมืองลพบุรีเขียนโดยฌ็อง กูร์โตแล็ง (Jean Courtaulin) นักบวชชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้ระบุว่าเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2214-2217 และพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) จะเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งหอดูดาวยังไม่ปรากฏ แต่ในแผนที่เมืองสำรวจโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสคือ เดอ ลา มาร์ (De la Mare) เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้บรรยายพื้นที่ส่วนนี้ว่า "คณะเยสุอิต (Les Jesuites) มีหอดูดาวทรงแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางด้านหน้าของที่พักใช้เป็นที่ดำเนินงานด้านคณิตศาสตร์"

พ.ศ. 2229 ขณะที่บาทหลวงเดอ ฟงเตอแน ซึ่งเป็นหัวหน้ารวมทั้งสมาชิกในคณะรวม 6 รูปยังไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศจีนได้และยังคงพำนักในสยาม บาทหลวงเดอ ฟงเตอแน จึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดผังและอาคารต่าง ๆ ในบริเวณหอดูดาวที่เมืองลพบุรีด้วย

บาทหลวงตาชาร์ระบุว่า เมื่อตนเองมาถึงเมืองลพบุรีอีกครั้งในปลาย พ.ศ. 2230 การก่อสร้างวิทยาลัยลพบุรี (Collège du Louvo) และเป็นที่ตั้งหอดูดาวที่เมืองลพบุรีด้วยนั้นก้าวหน้าไปมากแล้ว ชั้นบนของหอดูดาวก็สร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระกรุณาเสด็จไปเร่งงานด้วยพระองค์เอง แต่โบสถ์ฝรั่งในบริเวณนี้ยังก้าวหน้าไปไม่มาก ด้วยบาทหลวงตาชาร์ได้ขอร้องให้ออกญาวิไชเยนทร์ชะลอการก่อสร้างไว้ ด้วยจะนำสถาปนิกจากฝรั่งเศสมาดำเนินการก่อสร้าง

ราชทูตพิเศษฝรั่งเศสคือ โกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล (Claude Céberet du Boullay) ซึ่งเดินทางมายังเมืองลพบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. 2230 ได้ระบุว่า "พระบาทหลวงคณะเยสุอิต (12 รูป) ได้รับการต้อนรับขับสู้ดีเป็นอันมาก และเรื่องที่พักของพวกเขาที่เมืองละโว้ซึ่งใหญ่โตและงดงามนั้นได้รับการก่อสร้างเสร็จไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว"

อุปกรณ์ในหอดูดาว

เมื่อคณะบาทหลวงเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 12 รูป เดินทางจากฝรั่งเศสถึงสยามพร้อมกับบาทหลวงตาชาร์เมื่อ พ.ศ. 2230 นั้น มีหลักฐานว่า สมาชิกในคณะบาทหลวงรูปหนึ่งคือบาทหลวงรีโช (Richaud) ได้มีส่วนในการสร้างความสมบูรณ์ให้กับหอดูดาวเมืองลพบุรีด้วยการนำกล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูงความยาว 12 ฟุตมาติดตั้งใช้งาน และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับใช้ในหอดูดาวแห่งนี้

ใกล้เคียง

หอดูดาวแห่งชาติ (ไทย) หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป หอดูดาวแห่งชาติ (ญี่ปุ่น) หอดูดาวอาเรซิโบ หอดูดาววัดสันเปาโล หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา หอดูดาวหลวงเกรนิช หอดูดาวแห่งชาติ (จีน) หอดูดาวอินางาวะ หอดูดาวอนดาเกะ