พันธุ์หอยนางรม ของ หอยนางรม

คนไทยนักชิมอาจคุ้นเคยกันดีกับ หอยนางรมสุราษฎร์ และ หอยนางรมภูเก็ต (ภูเก็ตเรียก "หอยติบ")ที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของหอยนางรมไทยในเรื่องขนาด ประเทศอื่นๆ ก็มีหอยนางรมเช่นเดียวกัน และมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป เพราะหอยนางรมแต่ละท้องถิ่นมีรสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันไป เนื่องจากความแตกต่างของระดับความเค็มของน้ำทะเล อุณหภูมิน้ำทะเล และคุณภาพของน้ำ

หอยนางรมพันธุ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ เป็นหอยนางรมที่ได้รับความนิยมในการรับประทานในหมู่นักชิมหอยนางรม และร้านที่จำหน่ายหอยนางรมเหล่านี้ในต่างประเทศนิยมเรียกตัวเองว่าเป็น ออยสเตอร์ บาร์ (Oyster Bar) และมีบริกรเปิดหอยนางรมให้รับประทานกันสดๆ

ทัสมาเนียน เนทีฟ แฟลต ออยสเตอร์ (Tasmanian Native Flat Oyster)หอยนางรมที่มีชื่อของออสเตรเลีย หอยนางรมชนิดนี้เป็นหอยนางรมประจำถิ่นของเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เปลือกมีความหนา เจริญเติบโตอยู่ตามก้นทะเลที่เป็นทรายหรือเต็มไปด้วยตะกอนในเขตน้ำลึกรอบชายฝั่งทะเลของเกาะทัสมาเนีย เมื่อเทียบกันในด้านความสด หอยนางรมทัสมาเนียให้กลิ่นที่ชัดกว่าหอยนางรมในแถบแปซิฟิกด้วยกัน

นิวซีแลนด์ แปซิฟิก ออยสเตอร์ (New Zealand Pacific Oyster) เป็นหอยนางรมที่มีชื่อของนิวซีแลนด์ คือ มีชื่อเสียงในด้านเป็นหอยนางรมที่มีถิ่นที่อยู่ในเขตทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มีความสะอาดเป็นธรรมชาติสุดๆ ทำให้หอยนางรมนิวซีแลนด์ได้ชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง (วิตามิน แร่ธาตุโดยเฉพาะสังกะสี เหล็ก ไอโอดีน) และทำให้เนื้อหอยมีความอวบอูม มีรสเค็มอ่อนๆ แต่พอดี

คูมาโมโต (Kumamoto) หอยนางรมชนิดนี้โตช้ามากๆ จึงมักมีขนาดเล็ก เพาะเลี้ยงกันมากมานานกว่า 20 ปีแล้วตามชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน เพิ่งมาได้รับความนิยมในการรับประทานและสร้างตลาดได้ราวกลางปีค.ศ.1980 คูมาโมโตให้กลิ่นและรสชาติที่เต็มปากเต็มคำ การรับประทานหอยนางรมชนิดนี้จะได้กลิ่นและรสชาติที่คล้ายเนยและเค็มนิดๆ ปิดท้ายด้วยรสและกลิ่นหวานอ่อนๆ แบบผลไม้เจือแร่ธาตุ ความจริงหอยนางรมชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น แต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำเรื่องขอพันธุ์หอยนางรมชนิดนี้กลับไปเพาะพันธุ์ใหม่

อีเกิล ร็อค (Eagle Rock)หอยนางรมชนิดนี้ครั้งแรกถูกเลี้ยงในถุงตาข่ายขนาดใหญ่วางไว้เหนือก้นทะเลนอกฝั่งวอชิงตัน (ทางตอนใต้) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นแปดเดือน อีเกิล ร็อค จะถูกนำมาปล่อยไว้ตามชายหาดให้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ก่อนจะจับมาบริโภค มร.แพทริคบอกว่า เนื้อของอีเกิล ร็อค อวบอิ่ม มีรสเค็มอ่อนๆ และจบด้วยรสหวานคล้ายผลไม้ประเภทแตง

บารอน พอยท์ (Barron Point)หอยนางรมชนิดนี้ถูกเลี้ยงนอกชายฝั่งวอชิงตันทางตอนใต้เช่นเดียวกัน แต่เลี้ยงอยู่ในรางโดยตลอด จึงทำให้เปลือกหอยมีความกลม ตัวถ้วยของเปลือกมีความลึก น้ำทะเลทางตอนใต้ของวอชิงตันมีสารอาหารมากมายและไม่ค่อยเค็ม จึงทำเนื้อหอยนางรม 'บารอน พอยท์' มีรสชาติเค็มแบบนุ่มนวล เนื้อหอยมีไขมันประเภทไกลโคเจน (Glycogen) จึงทำให้เนื้อมีความชุ่มฉ่ำและมีรสหวาน

เซนต์ ไซมอน (St.Simon) เป็นหอยนางรมที่เติบโตนอกชายฝั่งทะเล นิว บรันสวิค (New Brunswick) ทางตอนเหนือประเทศแคนาดา ตัวหอยมีลักษณะกลม และเนื่องจากน้ำทะเลทางตอนเหนือของประเทศแคนาดาค่อนข้างเค็มจัด เต็มไปด้วยสารอาหาร จึงทำให้เนื้อหอยนางรมเซนต์ ไซมอนมีความเค็ม แต่ก็มีรสหวานด้วยเพราะตัวอ้วนพีด้วยไกลโคเจน

เบลอน ดับเบิลโอ (Belon OO)เป็นหอยนางรมที่นักชิมหอยนางรมรู้จักดี ค่อนข้างมีลักษณะกลมสมส่วน กลิ่นและรสชาติเต็มปากเต็มคำ และราคาแพง การรับประทานหอยนางรมชนิดนี้ไม่ควรปรุงโดยผ่านความร้อนโดยเด็ดขาด เบลอน ดับเบิลโอ เป็นหอยนางรมท้องถิ่นของเกาะอังกฤษ ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นฤดูวางไข่ของหอยนางรมชนิดนี้ ทำให้เนื้อหอยมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบเล็กๆ และกลิ่นหอมน้อยลง จึงไม่นิยมรับประทานในช่วงเวลาดังกล่าว