หอยมือเสือเล็บยาว
หอยมือเสือเล็บยาว

หอยมือเสือเล็บยาว

หอยมือเสือเล็บยาว หรือ หอยมือเสือเกล็ด (อังกฤษ: Fluted giant clam, Scaly clam; ชื่อวิทยาศาสตร์: Tridacna squamosa[1]) เป็นมอลลัสกาจำพวกหอยสองฝาชนิดหนึ่ง ในกลุ่มหอยมือเสือ นับเป็นหอยสองฝาอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหอยมือเสือเล็บยาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับหอยมือเสือชนิดอื่น คือ ใช้ประโยชน์จากสาหร่ายซูแซนเทลลีในการสังเคราะห์แสง นอกฝาหอยมีเนื้อเยื่อ หรือแมนเทิลยื่นออกมาเป็นระบาย พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่แอฟริกาใต้ ถึงทะเลแดง จนถึงหมู่เกาะมาร์แชลล์ มีขนาดความกว้างของเปลือกประมาณ 40 เซนติเมตร แต่มีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป คือ จะอาศัยเพียงเกาะติดกับหินหรือปะการังเท่านั้น ไม่มีการฝังตัว[2] จึงทำให้ง่ายต่อการนำขึ้นมาจากน้ำ ทำให้เป็นชนิดที่มีเหลือน้อยที่สุดและอยู่ในสภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในบรรดาหอยมือเสือที่พบในทะเลไทย[3]แต่หอยมือเสือเล็บยาว ได้รับการเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงจนเป็นที่สำเร็จได้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง ประจวบคีรีขันธ์ ในสังกัดกรมประมง นับเป็นหอยมือเสือชนิดแรกที่ทำการเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จ โดยทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ขนาดความกว้าง 25-30 เซนติเมตร จากทะเลนำมาพักและขุนเลี้ยงไว้ในบ่อคอนกรีตกลางแจ้งที่มีพลาสติกพรางแสงเหนือบ่อเพื่อลดความร้อนและจัดระบบน้ำทะเลให้ไหลผ่านทั่วบ่อ เสริมแพลงก์ตอนพืชให้เป็นอาหาร โดยนำพ่อแม่พันธุ์มาขัดล้างเปลือกให้สะอาด แล้วกระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิสนธิลูกหอยมือเสือเล็บยาวจากการเพาะเลี้ยงในโรงเพาะพันธุ์จะเจริญเติบโตได้ขนาดความยาวเปลือกประมาณ 1 เซนติเมตรแรกเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นหากได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเติบโตเพิ่มขนาดเปลือกได้ประมาณ 0.5–1 เซนติเมตรต่อเดือน หรือมีขนาดประมาณ 7–8 เซนติเมตรภายในเวลา 1 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเพาะขยายพันธุ์ลูกหอยมือเสือเล็บยาวได้มากจนมีปริมาณมากพอและนำไปปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติ จนปัจจุบัน หอยมือเสือเล็บมือยาวมิได้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์เหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว[3] แต่ก็ยังมีรายชื่อติดอยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[4] โดยในเขตน่านน้ำไทยแหล่งที่พบหอยมือเสือเล็บยาวได้มากที่สุด คือ เกาะไข่ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่สามารถพบหอยมือเสือเล็บยาวได้หลายขนาดและหลากหลายสีในเขตแนวปะการังน้ำตื้นรอบ ๆ เกาะ โดยเป็นหอยทั้งจากการเพาะขยายพันธุ์และขยายพันธุ์กำเนิดเองในธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากการอนุรักษ์ของทั้งหน่วยงานราชการและผู้ที่อาศัยในท้องถิ่น[5]