หัวเมืองลาวอีสาน

หัวเมืองลาวอีสาน หมายถึงบรรดาหัวเมืองเดิมทั้งหลายที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามในอดีต และบรรดาหัวเมืองเก่าแก่ทั้งหลายที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรล้านช้างโบราณ มาแต่ตั้งสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณีมหาราช ซึ่งหัวเมืองลาวอีสานเหล่านี้ตั้งอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา กินอาณาเขตตั้งแต่ภาคอีสานของประเทศไทยไม่ทั้งหมด และอาณาเขตของประเทศลาว หัวเมืองเหล่านี้ประกอบด้วยประชาชนจากหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งส่วนมากมักเป็นชาติพันธุ์ลาว หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมลาว พร้อมทั้งอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้านายจากราชวงศ์ลาวเป็นส่วนใหญ่ ชาติพันธุ์อื่นๆ เหล่านี้ประกอบด้วย ลาวไทอีสาน ลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวสูง ซึ่งแตกออกไปเป็นหลายพวก อาทิ ขะมุ (ขมุ) ข่าแจะ กระโซ่ (โซ่) กะเลิง กะตัง กะตู กะแสง (กะเสง) กะตาง กายัก ไทส่งดำ (ไททรงดำ) ไทดำ ไทแดง ไทเหนือ ไทขาว ไทภู (ผู้ไท หรือภูไท) ไทพวน ไทลื้อ บรู ลั๊วะ (ละว้า) ย้อ (ญ้อ) โย้ย โยน (ยวน) เย้า (ย้าว) แสก ข่า มอย ม้ง งวน บิด ดำ หอก ฮ้อ แซ ออง แงะ ก่อ กุ่ย เจง อิน (โอย) ละแว ละแนด ละเม็ด ละเวน ละแง แลนแตน ตะโอย ตาเลียง (ตาเหลียง) สีดา บ่าแวะ มะกอง มูเซอ สามหาง ผู้น้อย ผู้เทิงไฟ เขลา ปันลุ อาลัก เทิงน้ำ เทิงบก เทิงโคก อินทรี ยาเหียน ชะนุ ม้งลาย ม้งขาว ม้งดำ โซโล รุนี ลาวส่วย ยาเหิน ขะแมลาว แกนปานา เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยชาติพันธุ์เขมร ส่วย กูย ไทยโคราช (ไทเดิ้ง) ไทยสยาม ไทยอยุธยาเดิม ญวน (เวียดนามหรือแกว) หรือแกวลาว และประกอบไปด้วย ไทมลายู ที่อพยบ มาจากภาคใต้ของไทย อาจมีเชื้อสายอินเดียและคนมลายูปะปนอยู่บางส่วนใน นครศรีธรรมราช ด้วยบางส่วนบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ มีลักษณะทางพัฒนาการที่ยาวนาน หลากหลาย เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยสีสันทางการเมือง พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี ศาสนา ลัทธิพิธีกรรม กระบวนการทางความคิดเชิงอำนาจของนักปกครอง ระบบการปกครอง และความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ หัวเมืองเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างมหคุณูปการในการวางรากฐานของความเป็นรัฐชาติให้แก่สยาม แต่ยังสร้างความน่าตื่นเต้นและความวุ่นวายทางการเมืองการปกครองให้แก่สยามอีกด้วย เนื่องจากเจ้านายที่ปกครองบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ มากกว่าร้อยละ ๘๐ ไม่ใช่เจ้านายในราชวงศ์ไทยสยาม และช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างฝรั่งเศส ได้มีความพยายามเข้ามาแทรกแซงกิจการทางการเมืองการปกครองในดินแดนหัวเมืองเหล่านี้นั่นเอง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ