การทำหัวโขน ของ หัวโขน

หัวโขนพรหมพงศ์และอสูรพงศ์ เอกลักษณ์เฉพาะของไทย

การทำหัวโขน เป็นการสร้างสรรค์ของช่างทำหัวโขนที่มีความชำนาญ การสืบทอดวิชาแบบครูสอนศิษย์ ที่มีเอกลักษณ์หรือรูปแบบเฉพาะตัวของช่างไทยแบบโบราณ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการค้นพบศีรษะของพระครูและศีรษะของทศกัณฐ์ในคลังหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า การทำหัวโขนนั้นเริ่มต้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในด้านของวรรณกรรมและนาฏศิลป์ของไทย

การทำหัวโขนนั้น มีกระบวนการและขั้นตอนเป็นแบบแผนของช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ที่มีการเตรียมหุ่นและแม่แบบเอง ในสมัยโบราณมักใช้ดินเหนียวสำหรับปั้นแบบขึ้นรูป ปั้นใบหน้าหุ่น ติดลวดลาย ปิดทอง ติดพลอยและกระจก เขียนสีและทำยอด ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงดินเหนียวคือกระดาษสา กระดาษข่อย กระดาษฟางและไม้ไผ่สำหรับสานเป็นโครง โดยเลือกใช้กระดาษอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกับช่างทำหัวโขนในสมัยโบราณ มีขั้นตอนและกระบวนการทำหัวโขน ดังนี้[9]

การเตรียมลาย

ขั้นตอนแรกในการทำหัวโขนคือการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม เริ่มจากการเตรียมลวดลายต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับประดับตกแต่งหัวโขนในแต่ละแบบคือ รักตีลายที่ได้จากการนำรักน้ำ เกลี้ยงชัน มาผสมให้เข้ากันและนำไปตั้งไฟอ่อน ๆ เคี่ยวจนส่วนผสมทั้งสองงวดพอที่จะกดลงในแม่พิมพ์ทำเป็นลวดลายเช่น ลายกระจังเป็นต้น ซึ่งรักตีลายนั้น เมื่อแข็งตัวแล้วจะคงรูปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากเคี่ยวได้ที่แล้ว จะนำมาปั้นเป็นแท่งกลมยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้ปูนแดงผสมน้ำทาหุ้มให้ทั่ว ห่อด้วยใบตองเก็บไว้ให้มิดเก็บสำหรับใช้สำรองต่อไป

การขึ้นโครงเตรียมหุ่น

หลังจากเตรียมลวดลายแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นการเตรียมหุ่น ซึ่งหุ่นต้นแบบที่ใช้งานนั้น เป็นหุ่นที่ได้จากการนำกระดาษมาปิดทับให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วถอดออกมาเป็นหัวโขน วิธีทำแบบโบราณคือใช้ดินเหนียวปั้นเผาไฟให้สุก หรือใช้ไม้กลึงขึ้นรูปอย่างรูปโกลน ปัจจุบันวิธีการทำหุ่นต้นแบบใช้ปูนซิเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์แทน จากนั้นใช้กระดาษปิดทับให้ทั่ว แล้วถอดออกเป็นหัวโขนที่ภายกลวง เพื่อใช้สำหรับสวมศีรษะผู้แสดง มีรอยตา จมูก ปาก เป็นต้น หุ่นหัวชฎาหรือมงกุฎมักนิยมทำเป็นรูปทรงกระบอก ด้านบนกลึงรัดเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป เป็นจอมสำหรับใช้เป็นที่สวมยอดมงกุฎแบบต่าง ๆ เช่น ยอดชัย ยอดบัด ยอดทรงน้ำเต้า เป็นต้น[10]

การประดับตกแต่ง

ต่อจากนั้นช่างทำหัวโขนจะเริ่มปิดหุ่น ด้วยการปิดกระดาษทับลายหุ่นหรือเรียกอีกอย่างว่าการพอกหุ่น ปิดกระดาษทับหลาย ๆ ชั้นให้หนาพอเป็นรูปเป็นร่าง แล้วถอดศีรษะออกจากหุ่นโดยใช้มีดปลายแหลม กรีดเปิดหัวหุ่นที่ปิดทับด้วยกระดาษให้ขาด แล้วจึงถอดออกจากต้นแบบ จากนั้นใช้เข็มและด้ายเย็บประสานรอยกรีดให้แน่นสนิท แล้วปิดกระดาษทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหัวโขนที่เป็นกระดาษจะเรียกว่ากะโหลก แล้วจึงเริ่มปั้นเค้าโครงของใบหน้า ด้วยการใช้รักตีลายที่ทำสำรองเก็บไว้ นำมาปั้นเพิ่มเติมลงบนกะโหลกบริเวณส่วน คิ้ว ตา จมูก ปาก ฯลฯ ให้นูนขึ้นรูปแลดูชัดเจน รวมทั้งแสดงอารมณ์ของใบหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทใบหน้าของหุ่น จากนั้นเริ่มตกแต่งและประดับลวดลายบนตำแหน่งเครื่องศิราภรณ์เช่น ประดับส่วนเกี้ยวรักร้อย ฯลฯ ทำส่วนหูสำหรับตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวพระนางที่ปิดหน้า

การลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก

เมื่อได้หัวหุ่นที่ประดับลวดลายต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการการปั้นรักตีลาย โดยการใช้รักตีลายพิมพ์เป็นลวดลายละเอียด สำหรับประดับตามตำแหน่งบนกะโหลกที่ติดลวดลายประดับไว้แล้ว ใช้รักน้ำเกลี้ยงทาทับส่วนที่ทำเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่ต้องการให้เป็นสีทองคำ ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วนำทองคำเปลวมาปิดทับให้ทั่ว ประดับกระจกหรือพลอยกระจกเพื่อให้เกิดประกายแวววาม กระจกที่ใช้เรียกว่ากระจกเกรียง ปัจจุบันหายากมาก ช่างทำหัวโขนจึงเลือกใช้พลอยกระจกประดับแทน จากนั้นเป็นการระบายสีและเขียนส่วนละเอียด ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำหัวโขน มักนิยมใช้สีฝุ่นผสมกาวกระถินหรือยางมะขวิด ที่มีคุณสมบัติสดใสและนุ่มนวล ในขั้นตอนของการการระบายสีและเขียนรูปลักษณ์บนใบหน้าของหัวโขน ช่างทำหัวโขนจะต้องลงสีตามแบบแผนอันเกี่ยวเนื่องกับชาติเชื้อเผ่าพงศ์ของหัวโขนนั้น ๆ ให้ถูกต้องอีกด้วย[11]

แหล่งที่มา

WikiPedia: หัวโขน http://www.anurakthai.com/khon_mask/index.asp http://www.bangsaiarts.com/thai_mask_making.html http://members.tripod.com/tyzo_ros/html/pagebelive... http://members.tripod.com/tyzo_ros/html/pagecolor.... http://members.tripod.com/tyzo_ros/html/pagetakekh... http://www.elibrary.sacict.net/th/knowledge/handic... http://www.abnongphai.ac.th/%E1%CB%C5%E8%A7%A4%C7%... http://art.hcu.ac.th/khon/head.html http://ayutthaya.mots.go.th/index.php?lay=show&ac=... http://school.obec.go.th/wbpschool/E03/e036/histor...