หินรูปเนื้อ
หินรูปเนื้อ

หินรูปเนื้อ

หินรูปเนื้อ (จีน: 肉形石; พินอิน: Ròuxíngshí) เป็นชื่อหินก้อนหนึ่งซึ่งสลักเป็นรูปหมูสามชั้น ทำขึ้นในราชวงศ์ชิงจากหินแจสเพอร์ที่มีชั้นต่าง ๆ ก่อทับกันขึ้นตามธรรมชาติในห้วงเวลาหลายปี แต่ละชั้นมีสีสันต่างกันไป เมื่อแกะสลัก หินได้รับการย้อมสีให้เหมือนหมูสามชั้นจริง ๆ[1]หินสูง 5.73 เซนติเมตร กว้าง 6.6 เซนติเมตร และหนา 5.3 เซนติเมตร[2]ปัจจุบัน หินนี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในไทเป ไต้หวัน แม้ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะจะมีคุณค่าเพียงระดับกลาง แต่กลับได้รับความสนใจเข้าเยี่ยมชมสูงและมีชื่อเสียงมาก ทั้งได้รับการเรียกขานว่า เป็น "งานชิ้นเอกอันเลื่องชื่อที่สุด" ของพิพิธภัณฑ์[3] และจัดเข้ากลุ่มกับผลงานอีกสองชิ้น คือ ผักกาดหยกเขียว (翠玉白菜) กับหม้อเหมากง (毛公鼎) รวมกันเป็น "ไตรรัตน์" (三宝) ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้[4] อนึ่ง สาธารณชนยังลงคะแนนให้หินนี้เป็นวัตถุยอดสำคัญในบรรดาสิ่งของของพิพิธภัณฑ์ด้วย[5]