ลักษณะรูปทรงและประวัติ ของ หีบวัตถุมงคล

“Philatory” เป็นหีบวัตถุมงคลแบบใสที่ออกแบบเพื่อให้เห็นกระดูกหรือวัตถุมงคลของนักบุญที่บรรจุอยู่ภายใน หีบวัตถุมงคลอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “แป้นมอนสแทรนซ์” (monstrance) ซึ่งก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่สามารถมองเห็นสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในได้

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าวัตถุมงคลมีความสำคัญต่อทั้งผู้นับถือศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ[1][2][3] ในวัฒนธรรมของทั้งสองศาสนาวัตถุมงคลมักจะบรรจุไว้ในเจดีย์หรือวัด เพื่อให้ผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมาทำการจาริกแสวงบุญได้

ในแอฟริกาตะวันตกสิ่งบรรจุวัตถุมงคลที่ใช้ในธรรมเนียม Bwete จะประกอบด้วยสิ่งของที่ถือว่าขลัง หรือ กระดูกของบรรพบุรุษ และมาจะมีรูปผู้พิทักษ์อยู่ด้วย

รูปเคารพของนักบุญกุรีย์แห่งคาซานที่มีวัตถุมงคลฝังอยู่ด้วยในภาพ

การใช้สิ่งบรรจุวัตถุมงคลกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในธรรมเนียมของผู้นับถือคริสต์ศาสนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 วัตถุมงคลสักการะกันในคริสต์ศาสนสถานของนิกายโอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์, อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์, โรมันคาทอลิก และบางครั้งก็ในนิกายอังกลิคันด้วย ตู้หรือหีบวัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ใช้ป้องกันและใช้แสดงวัตถุมงคลที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ได้รับพรจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าให้มีพลังปาฏิหาริย์ สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลมีด้วยกันหลายขนาดตั้งแต่เป็นจี้หรือแหวนไปจนถึงหีบที่มีลักษณะคลายหีบศพอย่างง่าย ๆ ไปจนถึงสิ่งที่ตกแต่งอย่างวิจิตร สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลหลายชิ้นออกแบบเพื่อการขนย้ายได้ง่าย หรือ ใช้ในการตั้งแสดงให้สาธารณชนทำการสักการะได้ หรือ ใช้ในการแห่ในกระบวนพิธีทางศาสนาในวันสมโภชน์นักบุญหรือวันสำคัญทางศาสนา นักแสวงบุญก็มักจะนิยมมาทำการสักการะวัตถุมงคลที่อาจจะทำโดยการก้มหรือจูบวัตถุมงคล

สิ่งที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลในสมัยแรกโดยทั่วไปจะเป็นกล่องที่อาจจะเป็นแบบเรียบง่ายหรือมีลักษณะคล้ายสิ่งก่อสร้าง (ตามทรงคริสต์ศาสนสถาน) ที่เรียกกันว่า “หีบสักการะ” หรือ “chasses” สัตยกางเขน (True Cross) เป็นวัตถุมงคลเป็นที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมาและมาจะบรรจุในสิ่งที่เป็นทรงกางเขนที่ทำด้วยเงินหรือทอง ตกแต่งด้วยเอนาเมลและอัญมณี ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 หีบบรรจุวัตถุมงคลทรงเดียวกันกับวัตถุที่แสดงกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมทำกัน เช่นพระเศียรของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ก็ได้รับการบรรจุในกล่องที่เป็นทรงศีรษะ ในทำนองเดียวกันกระดูกของนักบุญก็มักจะบรรจุในกล่องที่เป็นทรงเดียวกับส่วนของกระดูกที่แสดง เช่น เท้า หรือ มือเป็นต้น

ในปลายยุคกลางก็มีการเริ่มใช้ “แป้นมอนสแทรนซ์” ที่แสดงวัตถุมงคลในผอบแก้วที่ตั้งบนท่อนโลหะ ในช่วงเดียวกันนี้ก็เริ่มมีที่บรรจุวัตถุมงคลที่เป็นเพชรพลอยที่ใช้บรรจุวัตถุมงคลขนาดเล็กเช่นหนามศักดิ์สิทธิ์จากมงกุฎหนาม

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นักปฏิรูปเช่นมาร์ติน ลูเทอร์เป็นปฏิปักษ์ต่อการสักการะวัตถุมงคล เพราะวัตถุดังกล่าวไม่มีเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเป็นสิ่งของที่แท้จริงตามที่กล่าว วัตถุมงคลหลายชิ้นโดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปถูกทำลายโดยกลุ่มคาลวินหรือผู้สนับสนุนระหว่างการปฏิรูปศาสนาของนิกาย โปรเตสแตนต์ บางชิ้นก็ถูกหลอมหรือถอดออกเพื่อเอาอัญมณีที่บรรจุอยู่ภายในหรือใช้ตกแต่ง แต่กระนั้นการสร้างสิ่งบรรจุวัตถุมงคลก็ยังคงทำกันอยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์