เหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์การมหรสพไทย ของ หุ่นไทย

พ.ศ. 2452 เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพ เจ้ากรมหุ่นหลวง เจ้ากรมโขน เจ้ากรมรำโคม และเจ้ากรมปี่พาทย์ เจ็บป่วยทุพพลภาพ ต้องถวายบังคมลาออกจากราชการเลิกเล่นโขนละครทั้งปวง และถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งผู้ใดมาเป็นเจ้ากรมแทน ทำให้การมหรสพ หุ่น โขน และปี่พาทย์ ขาดการกำกับดูแลส่งเสริมอย่างใกล้ชิด [ต้องการอ้างอิง]

พ.ศ. 2475 สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการปรับปรุงหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณ อาจเป็นเหตุให้มหรสพทุกชนิดของราชการตกต่ำมากที่สุด มหรสพและการละเล่นหลายประเภทขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้มหรสพและการละเล่นบางอย่างหายไปจากประเทศไทย ได้แก่การเล่นหุ่นหลวง มอญรำ เทพทอง รำโคม ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไม้ลอย ญวนหก นอนหอก นอนดาบ ไต่ลวด กระอั้วแทงควาย แทงวิสัย วิ่งวัว และขี่ช้างไล่ม้า เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีกลุ่มปัญญาชนไทย ที่มองเห็นการณ์ไกลได้พยายามสนับสนุน ให้มีการสืบทอดศิลปะการแดสงมหรสพของไทย ได้แก่ ละครนอก หนังใหญ่ หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กให้อยู่คู่สังคมไทยมาจนปัจจุบันนี้ บุคคลที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง คือ ศาสตาจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย

ประเภทของหุ่นไทยตามประเพณีแต่ดั้งเดิมนั้นมีหลายชนิด ได้แก่ หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หุ่นหนัง[1] อันได้แก่ หนังใหญ่ หนังตะลุง สำหรับในปัจจุบันนี้ มีหุ่นเกิดขึ้นอีกหลายประเภท เช่นหุ่นละครอย่างตะวันตก ซึ่งแสดงเนื้อเรื่องแบบสมัยใหม่ บางครั้งก็ล้อเลียนสังคม หรือหุ่นสำหรับเด็ก เป็นต้น