ประโยชน์ ของ ห้อม

ใบห้อม นิยมนำมาใช้ย้อมผ้า เรียกว่า ผ้าหม้อห้อม ทั้งต้นสับเป็นท่อนเคี่ยวเพื่อทำสีย้อมผ้า ได้สีน้ำเงินเข้มเกือบดำ[2] ฮ่อมที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีที่สุดในการยับยั้งการเจริญของ Pseudomonas aeruginosa,Staphylococcus aureus และ Staphylococcus epidermidis[3]

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

   1. ยารักษาโรค

        ในอดีตจนถึงปัจจุบันห้อมถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านพืชสมุนไพรยารักษาโรค และการย้อมผ้า [12 1] รากและใบ ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ เจ็บคอ หลอดลม อักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ทั้งต้นสดสับเป็นท่อนต้มเคี่ยว เพื่อทำสีย้อมผ้า ให้สีน้ำเงินเข้มเกือบดำ[2 1] และพบว่าชาวเมี่ยน ในจังหวัดน่าน ได้นำส่วนของใบและลำต้น นำไปต้มดื่มแก้อาการท้องร่วง และใช้ใบและยอดอ่อนตำใส่ข้าวสารใช้ประคบรักษาพิษไข้ของเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ใบฮ่อมรักษาอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ปอดบวม คางทูม อาการเจ็บคอ และผิวหนังอักเสบ ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดแพร่ศึกษาใช้ใบฮ่อมตำฟอกเท้าดูดพิษไข้ ช่วยให้อาการไข้หายเร็วขึ้น รากและใบนำไปต้มดื่มรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ เยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบจากไวรัสบี ปอดอักเสบ คางทูม และโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARS) [2 1][13 1] ในทางการแพทย์แผนโบราณของจีนนำมาเป็นสมุนไพรใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมีคุณสมบัติรักษาโรคได้หลายประการ อาทิเช่น ไข้หวัดใหญ่ระบาด เยื่อหุ้มสมองอักเสบไวรัส B โรคปอดบวม โรคคางทูม โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ป้องกันเชื้อรา ไวรัส และต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรีย[14 1] ห้อมยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส human immunodeficiency virus (HIV) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเอดส์ในสภาพ in vitro และ in vivo [15 1] นอกจากนี้ยังพบสาร Indirubin-3′-oxime (IOX) ในส่วนของใบและรากที่สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Chronic myelocytic leukemia (CML)[16 1] จากการศึกษาพบว่าเมื่อสกัดใบห้อมด้วยเมทานอลจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งเชื้อ  Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Enterobacter aerogenes, Escherichia coli และKlebsiella pneumonia เป็นต้น[15 1] นอกจากนี้ยังพบสารประกอบ Alkaloids, flavonoids, organic acid, glycosides, steroids, pentacyclic triterpanoids, anthraquinones, amino acid และ saccharide มีฤทธิ์ต้านทานสารชีวเคมีหลายประการ ได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และการอักเสบ

    2 อุตสาหกรรม

        2.1 อุตสาหกรรมสารอินดิโก

             ห้อม เป็นพืชที่ให้สารสีน้ำเงินมีชื่อเรียกว่า “อินดิโก” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมผ้า สีครามธรรมชาติเป็นสีที่มนุษยชาติรู้จักการใช้มาอย่างยาวนานดังที่รายงานว่าในประเทศจีนได้รู้จักการใช้ย้อมผ้ามาไม่น้อยกว่า 6,000 ปี ในอินเดียมีปรากฏอยู่คัมภีร์พระเวทไม่น้อยกว่า 4,000 ปี [17 1] มีหลักฐานการใช้ราชสำนักกรีกโรมันยุคโบราณจนได้ขนานนามว่า เป็นราชาแห่งสีย้อม (King of Dye)  ใบห้อมสามารถเก็บไปทำสารสีอินดิโกได้ต่อเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ระยะของการเก็บไม่จำกัดแล้วแต่จะแตกแขนงช้าหรือเร็ว การเก็บถ้ามีมากก็หักทั้งกิ่ง ถ้ามีน้อยก็เก็บเป็นใบ ๆ ในการสกัดสารอินดิโกจากใบครามและใบห้อม คือ การตัดวัตถุดิบที่สดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วใส่ถุงผ้า หมักด้วยน้ำในถุงที่มีฝาปิดมิดชิด เป็นระยะเวลา 1 วัน ได้ตะกอนสีประมาณ 0.005 มก. ต่อน้ำหนักใบสด 1 กรัม วิธีนี้ยังสามารถกำจัดกากวัตถุดิบที่เหลือจากการหมักได้ง่าย ลดกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการหมักได้ สารสีที่สกัดได้จากใบครามและใบห้อมเป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสารสีน้ำเงินและแดง สารสีน้ำเงินคืออินดิโกและสารสีแดงคืออินดิรูบิน ซึ่งมีปริมาณเป็น 6.8 เท่าของอินดิโกและมีความคงทนในบรรยากาศมากกว่า นอกจากนี้สารอินดิโก้ยังสามารถพบได้ในพืชอีกหลายชนิด เช่น Woad (Isatis tinctoria) นิยมใช้มากในแถบยุโรป คราม (Indigofera tinctoria L.) นิยมใช้มากในแถบเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา และ Japanese Indigo (Persicaria tinctorium) นิยมใช้มากในแถบยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี (Maier 1990, Maugard et al. 2001) ครามญี่ปุ่น (Polygonum tinctorum) ครามเถา (Marsdenia tinctoria) และต้นดาดตะกั่ว (Hemigraphis alternata) สำหรับประเทศไทยพืชที่นำมาใช้ในการย้อมผ้าที่ให้สีน้ำเงินมีอยู่เพียง 2 ชนิด คือ ห้อมและคราม จากการรายงานพบว่าแหล่งที่ใช้ครามมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตที่สำคัญ คือ จังหวัดสกลนคร เช่น ชาวผู้ไทในอำเภอพรรณานิคม ได้แก่ บ้านดอนกอย บ้านหนองครอง บ้านโนนเรือ-ต่อเรือบ้านนาดี ชาวกะเลิงในอำเภอกุดบาก ได้แก่ บ้านกุดแฮด อูนดง เชิงดอย หนองสะไน และชาวโย้ยในอำเภออากาศอำนวย ได้แก่ บ้านบะหว้า บ้านถ้าเต่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในอำเภอสว่างแดนดิน ได้แก่ บ้านพันนา เป็นต้น[19 1] สำหรับแหล่งผลิตที่ใช้ห้อมเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้าที่สำคัญคือ บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ[8 1]  พื้นที่ที่ต้นห้อมขึ้นเจริญเติบโตได้ดีต้นฮ่อมยังเป็นพืชป่าที่ไม่มีการส่งเสริมปลูกในเชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักของการขาดแคลนวัตถุดิบต้นห้อมถึงขั้นวิกฤต จนทำให้อุตสาหกรรมการย้อมสีผ้าด้วยห้อมได้มีการนำสีเคมีสังเคราะห์และสีจากต้นครามมาใช้แทน จากการรายงานพบว่ามีการใช้สีสังเคราะห์และสีย้อมจากต้นคราม 95.95% สีย้อมจากต้นห้อมเพียง 4.05 % และมีแนวโน้มที่จะใช้สีสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการใช้สารเคมีดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต[10 1]

     จากการรายงานพบว่าสารอินดิโก้ในตลาดทั่วโลกมีประมาณ 800,000 ตัน ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้ายีนส์มากถึงประมาณ 200,000 ตัน การย้อมสีจากธรรมชาติมีสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ การแข่งขันทางการตลาดใช้สีสังเคราะห์ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 90% และมีราคาถูกกว่า สำหรับสารอินดิโกที่มีผลผลิตไม่ดีอยู่ที่ (0.2% ถึง 0.5%) และความบริสุทธิ์ (20% ถึง 90%) อย่างไรก็ตามความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการใช้สีสังเคราะห์ย้อมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตัวรีดิวซ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมสี ซึ่งใช้โซเดียมไดไทนิไนท์เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในประเทศเยอรมันได้ยกเลิกการย้อมสีสังเคราะห์เอโซตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคภูมิแพ้และสารก่อมะเร็งต่อสุขภาพของมนุษย์

    2.2 อุตสาหกรรมสิ่งทักทอ และเครื่องนุ่งห่ม

ผ้าหม้อห้อม เป็นชื่อผ้าย้อมพื้นเมืองสีกรมท่าที่ย้อมด้วยน้ำห้อม ซึ่งได้มาจากการหมักของต้นห้อม เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ ในภาคเหนือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมใช้เสื้อหม้อห้อมที่มาจากเมืองแพร่ เนื่องจากมีคุณภาพ ความคงทนของเนื้อผ้าและสีหม้อห้อมที่ใช้ในการย้อมผ้า ตลอดจนรูปแบบของเสื้อผ้าที่เรียบง่ายและยังสามารถสวมใส่ได้หลายหลายโอกาส สำหรับแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่สำคัญมี 3 แหล่งใหญ่ๆคือ บ้านพระหลวง ตำบลพระหลวง และบ้านเวียงทอง ตำบลเวียงทอง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ และบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นชาวไทพวนที่ถูกกวาดต้อนและอพยพมาจากแขวงเมืองขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2340 – 2380 นอกจากผ้าหม้อห้อจะสามารถนำมาตัดเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในปัจจุบันพบว่ายังสามารถตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกหลายชนิด อาทิเช่น ผ้าคาดโต๊ะ ผ้าคาดเตียง ผ้าคลุมโซฟา ภาพฝาผนัง ปลอกหมอนอิง ผ้าม่าน กล่องทิชชู โคมไฟ ผ้าอเนกประสงค์ และถังขยะ  

2.3 ด้านอื่นๆ

      นอกเหนือจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังพบว่าห้อมยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับ ส่วนผสมของสบู่ สีย้อมผม แชมพูสระผม[12 1]