ประวัติ ของ อนันดา_เอเวอร์ริ่งแฮม

ชีวิตช่วงแรก

อนันดาเกิดในประเทศไทย เป็นลูกชายของจอห์น เอเวอริงแฮม ช่างภาพชาวออสเตรเลีย กับแก้ว สิริสมพร หญิงชาวลาว[2] ปัจจุบันอนันดาถือสัญชาติไทย[3] (เดิมถือสัญชาติออสเตรเลีย) เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นกลับมาประเทศไทยเมื่ออายุได้ 9 ปี เข้าศึกษาที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา และกลับไปบริสเบนระหว่างปิดภาคเรียนที่ประเทศไทย[4] สมัยเด็ก ๆ เป็นคนดื้อมาก เรียนหนังสือเก่งแต่ไม่ยอมเรียน จนเมื่ออายุได้ 13 - 14 ปี โดนไล่ออกจากโรงเรียน ทำให้คุณพ่อต้องการดัดนิสัยโดยจะส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอินเดีย แต่มีวันหนึ่งขณะรอเดินทางไป อนันดาได้ช่วยงานร้านอาหารอินเดียชื่อ “หิมาลัย ชา ช่า”[5] ที่บิดาเปิดอยู่ย่านสุริวงศ์ ได้พบมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เข้ามาถามว่าต้องการเป็นดาราหรือไม่ และด้วยความที่ไม่อยากไปอินเดียจึงตอบตกลง อนันดาจึงเข้าสู่วงการบันเทิงโดยเริ่มงานกับแกรมมี่ เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ จากนั้นก็ได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ อันดากับฟ้าใส[6]

เข้าสู่วงการบันเทิง (พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2550)

ภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่อง อันดากับฟ้าใส กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล[7] ในตอนนั้นอนันดายังพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่อนันดาก็เล่าถึงตัวเองว่า ผมเข้าใจภาษาไทยนะ แต่ว่าไม่ได้ใช้และเพื่อนฝูงเป็นฝรั่งหมด[8] หลังจากนั้นอนันดาก็มีงานเข้ามาเรื่อย และเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยความเป็นคนรักในการท่องเที่ยว จึงหายไปจากวงการช่วงหนึ่ง

อนันดา ในงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่อง พลอย

หลังว่างเว้นจากวงการบันเทิง 3 ปีอนันดาก็หวนกลับเข้าวงการอีกครั้งหนึ่งกับละครของหม่อมน้อย ในเรื่อง "ทะเลฤๅอิ่ม" ส่วนเรื่องการเรียน อนันดาเรียนที่บ้าน[9] จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง คนสั่งผี ตามมาด้วย ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้สูงมากเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้น[10] ด้วยรายได้ 120 ล้านบาท[11] อนันดาให้สัมภาษณ์ภายหลังเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ชัตเตอร์ก็มีผลต่อเราค่อนข้างมากนะ จะเรียกว่าเป็นหนังแจ้งเกิดอีกรอบหนึ่งก็ได้...แต่ก่อน ที่เล่นหนังป็อป ๆ ที่เป็นป็อปไอดอล...งานที่เข้ามาหลังจากนั้นก็แตกต่างเยอะ ด้านการแสดงก็คิดว่าเป็นสเต็ปแรกที่ทำให้เรากว้างไปสู่งานที่มีเนื้อหาที่โตขึ้น"[12] จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดสสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม[13] หลังจากนั้นอนันดาได้แสดงภาพยนตร์ เรื่อง Me Myself ขอให้รักจงเจริญ กำกับโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ในภาพยนตร์เรื่องนี้เขารับบทเป็นกะเทยชีวิตรันทด[14] โดยได้ไปเรียนการแสดงเพิ่มเติมกับหม่อมน้อย ให้รู้จักใช้ร่างกาย "หม่อมน้อยไม่ได้สอนให้ผมเป็นผู้หญิง หรือว่าทำตัวให้เป็นกะเทย"[15] ในส่วนคำวิจารณ์การแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสดวิจารณ์ไว้ว่า "ด้วยลักษณะตัวละครที่ค่อนข้างซับซ้อน มีปัญหาทั้งทางด้านความทรงจำ ความเป็นชายและหญิง และปัญหาทางด้านความรัก ทำให้ตัวละครที่อนันดารับบท เป็นตัวละครที่เล่นยาก (คือถ้าเล่นเป็นกะเทยไปเลยทั้งเรื่องคงไม่ยากเท่านี้) แต่อนันดาก็สามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวนั้นได้อย่างเข้าถึงและน่าเชื่อในทุกมิติ"[16]

ภาพยนตร์เรื่องถัดมาคือ พลอย ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งอนันดาเคยร่วมงานกับเป็นเอก มาแล้วกับภาพยนตร์สั้น เรื่อง Twelve Twenty ในภาพยนตร์เรื่องนี้อนันดารับบทเป็นนัท บาร์เทนเดอร์หนุ่ม ที่มีบทพูดเพียงประโยคเดียวในเรื่องคือ “ เด็กมันติดยา ครับพี่” [17] นอกนั้นเป็นบทเลิฟซีนกับ พรทิพย์ ปาปะนัย ต่อมาเขายังได้รับเลือกให้เป็น นักแสดงดาวรุ่งที่มีศักยภาพสูง และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในเอเชีย หรือ สตาร์ ซัมมิท เอเซีย ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน[18] และอนันดาก็ได้แสดงในภาพยนตร์นอกกระแส อย่าง ดึกแล้วคุณขา[12] ที่อนันดาไม่รับค่าตัวและช่วยออกเงินทำภาพยนตร์[19] และปลายปี 2550 อนันดามีผลงานภาพยนตร์เรื่อง Pleasure Factory หรือ Kuaile Gongchang ของเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับ Beautiful Boxer เป็นโปรเจกต์หนังนานาชาติของเอกชัย[20] ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่แคนาดาเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงมอนทรีอัล และยังได้รับเลือกให้เข้าฉายใน สาย Midnight Passion ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปูซานครั้งที่ 12 ด้วย[21]

พ.ศ. 2551 และ อนาคต

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551 อนันดามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ถึง 10 เรื่อง โดยเริ่มรับแสดงเรื่อง The Coffin ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และต่อด้วย ปืนใหญ่จอมสลัด แต่เนื่องจากรอเปิดกล้องอยู่นานไม่ได้ถ่ายทำ จึงไปรับถ่ายเรื่อง The Leap Years[22] ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 3 ปี[23]

ในปี พ.ศ. 2551 นี้ อนันดาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง เมมโมรี่ รัก...หลอน โดยอนันดารับบทเป็น กฤช มีอาชีพเป็นจิตแพทย์ อนันดาได้พูดถึงตัวละครนี้ว่า "หมอกฤชเป็นจิตแพทย์ที่มีปัญหา เป็นจิตแพทย์ที่ควรจะพบจิตแพทย์เสียเอง"[24] ต่อมาอนันดามีผลงาน แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง สะบายดี หลวงพะบาง เป็นภาพยนตร์เอกชนลาวเรื่องแรกในรอบ 33 ปี โดยได้ผู้กำกับไทย ศักดิ์ชาย ดีนาน และผู้กำกับลาว อนุสอน สิริสักดา โดยครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อมาเพื่อแสดงในเรื่องนี้ แต่เมื่ออ่านบทและทำการถ่ายทำได้สักพักจึงตัดสินใจหาเงินระดมทุนสร้างกว่า 10 ล้านบาท รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้[25]

ภาพยนตร์เรื่อง โลงต่อตาย (The Coffin) ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง กำกับโดยและเขียนบทโดยเอกชัย เอื้อครองธรรม ที่ได้รับรางวัล Best Project และเงินรางวัลจากกองทุน Hubert Bal ในงาน HAF ฮ่องกง เอเชี่ยน ไฟแนนซ์เชี่ยล ฟอรัม[26] ภาพยนตร์เรื่องนี้อนันดารับบทเป็น คริส สถาปนิก ที่กลัวความแคบอย่างรุนแรง แต่มานอนโลงเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ให้แฟนชาวญี่ปุ่นที่ป่วยเข้าขั้นโคม่า[27] ในบทบาทของ "คริส" อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์วิจารณ์ว่า "บทของคริสก็คืออีกหนึ่งบทบาทซึ่งขับรัศมีแห่งความเป็นนักแสดงมืออาชีพในตัวของอนันดาออกมาให้คนดูได้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นอีก"[28] ต่อมาในภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงแนวแอกชัน-แฟนตาซี เขารับบทเป็นปารี ชาวเล ผู้มีวิชาดูหลำ สามารถบังคับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้ โดยนนทรีย์ นิมิบุตรและเอก เอี่ยมชื่นได้กล่าวว่าออกแบบตัวละครตัวนี้จากตัวอนันดา ซึ่งเขาก็สงสัยว่าคล้ายกับเขาตอนไหน[29]

อนันดาและฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ กลับมาแสดงร่วมกันอีกครั้งใน แฮปปี้เบิร์ธเดย์ หลังจากเจอกันใน Me Myself ขอให้รักจงเจริญ กับผู้กำกับคนเดิม พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ซึ่งเขาส่งอนันดาและฉายนันท์เข้าไปพัฒนาการแสดงกับหม่อมน้อย ที่อนันดาเคยแสดงในภาพยนตร์กำกับโดยหม่อมน้อยใน อันดากับฟ้าใส หม่อมน้อยพูดถึงอนันดาว่า "ถามว่าอนันดาเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางด้านการแสดงมั๊ย ก็ตอบเลยว่าไม่ แต่ว่ามีความมานะ มีความพยายาม แล้วก็ขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้ฝีมือการแสดงของเขาขึ้นไปทีละขั้นช้า ๆ แต่มั่นคง..."[30] ซึ่งการแสดงของอนันดาเรื่องนี้ก็ได้รับคำชมว่า "อนันดาในหนังเรื่องนี้ “บทเด่น” และ “เล่นดี” มากจนหาที่ตำหนิไม่เจอ"[31] จากผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้อนันดาได้รับรางวัลในสาขานักแสดงนำจาก 4 สถาบัน

อนันดามีส่วนร่วมในโครงการภาพยนตร์ เสน่ห์กรุงเทพ ที่เป็นโครงการภาพยนตร์สั้นถ่ายทอดจากผู้กำกับ 9 คน โดยอนันดาแสดงในตอน "Bangkok Blues" กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์[32] ในปี พ.ศ. 2553 เขายังได้กลับมาร่วมงานแสดงภาพยนตร์ในการกำกับของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลอีกครั้งในเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย[33] ในปีเดียวกันเขาแสดงในภาพยนตร์ทุนสร้างสูง 150 ล้านบาทเรื่อง อินทรีแดง ในบทบาท อินทรีแดง จากบทบาทนี้ รัชชพร เหล่าวานิช นักวิจารณ์เห็นว่า บทบาทนี้อยู่แค่สอบผ่าน เพราะไม่มีรังสีอำมหิต[34]

ใกล้เคียง

อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ อันดับสัตว์ฟันแทะ อนันต์ บุนนาค อันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย อันดับกบ อันดับมหาเศรษฐีโลก อันดับมหาวิทยาลัยไทย อันดับโลกเอฟไอวีบี อันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

แหล่งที่มา

WikiPedia: อนันดา_เอเวอร์ริ่งแฮม http://www.anandafilm.com/ http://www.anandafilm.com/web/profile http://www.anandafilm.com/web/th/profile http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=547... http://bangkok-today.com/web/mthai-top-talk-2016-%... http://www.bangkokbiznews.com/2007/09/17/WW50_WW50... http://www.bangkokpost.com/entertainment/movie/192... http://news.buddyjob.com/entertain/show_news-990-1... http://www.daradaily.com/news/11846/%E0%B8%A3%E0%B... http://www.daradaily.com/news/12395/%E0%B8%9C%E0%B...