การจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต ของ อนุกรมวิธาน

การจัดสิ่งมีชีวิตให้เป็นหมวดหมู่ตามลำดับจากใหญ่ไปหาเล็กหรือจากเล็กไปหาใหญ่ ในที่นี้ขอแสดงตัวอย่างจากใหญ่ไปหาเล็ก เริ่มต้นจาก

  • แต่ละอาณาจักร จะแบ่งออกได้เป็นหลายไฟลัมในสัตว์ และหมวดหรือส่วนในพืช
  • แต่ละไฟลัม (ในสัตว์) หรือแต่ละหมวด (ในพืช) สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายชั้น
  • แต่ละชั้น สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายอันดับ
  • แต่ละอันดับ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายวงศ์
  • แต่ละวงศ์ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น หลายวงศ์ย่อย, หลายสกุล
  • แต่ละสกุล สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายสปีชีส์หรือชนิด

การจัดหมวดหมู่เริ่มตั้งแต่การแบ่งแบบคร่าว ๆ ในระดับอาณาจักร ซึ่งในระดับนี้จะแบ่งสิ่งมีชีวิตในโลกออกเป็น 5 อาณาจักร คือ

  1. อาณาจักรสัตว์
  2. อาณาจักรพืช ได้แก่ พืชทุกชนิด
  3. อาณาจักรโปรติสตา (กึ่งพืชกึ่งสัตว์) ได้แก่ สาหร่ายต่าง ๆ ราเมือก และโปรโตซัว
  4. อาณาจักรเห็ดรา ได้แก่ เห็ด รา และยีสต์
  5. อาณาจักรโมเนอรา ได้แก่ แบคทีเรียและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

ในความเป็นจริงแล้ว การแบ่งสิ่งมีชีวิตในโลกนั้น หนังสือบางเล่มบอกว่ามีมากกว่า 5 อาณาจักร เช่น มีอาณาจักรไวรอยส์ (ไวรัส ไวรอยด์ และสิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นเซลล์) แต่อาณาจักรอื่น ๆ หรือการแบ่งอาณาจักรแบบอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากวงการชีววิทยาเท่าที่ควร ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังใช้การแบ่งแบบ 5 อาณาจักรอยู่

การแบ่งในระดับอาณาจักร จะแบ่งสิ่งมีชีวิตได้เพียง 5 ประเภท แต่เมื่อแบ่งในระดับที่ละเอียดขึ้น ก็จะแบ่งได้หลายประเภทมากขึ้น ซึ่งเมื่อแบ่งละเอียดถึงระดับสปีชีส์ แล้ว สิ่งมีชีวิตในโลกจะแบ่งได้เป็นล้าน ๆ ประเภท

การเรียกสิ่งมีชีวิตโดยใช้หลักอนุกรมวิธาน จะเรียกโดยเริ่มจากอาณาจักร ไปไฟลัม ไปชั้น ไปอันดับ ไปวงศ์ ไปสกุล ไปสปีชีส์ เช่น การจะเรียกมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบันโดยใช้หลักอนุกรมวิธาน จะเรียกได้ดังนี้

Domain Eukaryota[1]Kingdom Animalia (อาณาจักรสัตว์)Phylum ChordataSubphylum VertebrataClass MammaliaSubclass Theria Infraclass EutheriaOrder PrimatesFamily HominidaeGenus HomoSpecies Homo sapiens

ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ต่าง ๆ นั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า การเรียกแบบอนุกรมวิธานนั้นจะแตกต่างในระดับใด เพราะถ้าหากสิ่งมีชีวิตสองชนิด มีความแตกต่างกันที่ระดับหนึ่ง ๆ แล้ว ระดับที่อยู่ต่ำลงไปก็จะแตกต่างไปด้วยเสมอ เช่น นำสิ่งมีชีวิตสองชนิดเปรียบเทียบกัน พบว่า ตั้งแต่อาณาจักรถึงวงศ์เหมือนกัน แต่สกุลไม่เหมือนกัน ก็จะพลอยทำให้สปีชีส์ไม่เหมือนกันไปด้วย เช่นนี้เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ จะผสมพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตที่มีชื่ออนุกรมวิธานเหมือนกันทั้ง 7 ระดับเท่านั้น การผสมข้ามสายพันธุ์จะถูกขัดขวางโดยกระบวนการธรรมชาติ เช่น ฤดูผสมพันธุ์ที่ไม่ตรงกัน, ลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน, การอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างกัน ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีบางกรณีที่สิ่งมีชีวิตเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งธรรมชาติก็จะหาทางให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ เช่น ให้อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมีย หากได้รับเชื้อจากเพศผู้ที่ต่างสปีชีส์กัน จะหลั่งสารยับยั้งและฆ่าเชื้อจากตัวผู้ตัวนั้น หรือถ้าสิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่มีสารเหล่านี้ จนเชื้อของเพศผู้สามารถเข้าไปได้ ก็จะไม่เกิดการถ่ายทอดยีน เพราะยีนของสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ไม่เหมือนกัน

แต่ในบางกรณีที่เกิดการปฏิสนธิและออกลูกมาได้จริง ๆ จะเรียกว่า ลูกผสม ซึ่งลูกผสมจะมีชะตากรรมอย่างในอย่างหนึ่งใน 3 กรณีต่อไปนี้

  1. อายุสั้น
  2. เป็นหมัน (เช่น ตัวล่อ ที่เกิดจากม้า+ลา)
  3. ออกลูกได้อีกเป็นลูกผสมรุ่นที่ 2 แต่ลูกผสมรุ่นที่ 2 นี้ จะเป็นหมันแน่

จริง ๆ แล้ว ยังมีการแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นซับสปีชีส์หรือชนิดย่อยได้อีก แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงกันแค่ระดับสปีชีส์ เพราะซับสปีชีส์คือการแบ่งประเภทของสปีชีส์ต่ออีกรอบ แต่ก็ยังอยู่ใน สปีชีส์เดียวกัน สิ่งมีชีวิตสามารถผสมข้ามซับสปีชีส์ได้ตามปกติโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ความแตกต่างระหว่างซับสปีชีส์น้อยมาก ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงพูดถึงกันละเอียดที่สุดที่ระดับสปีชีส์