การเข้าเป็นภาคีของประเทศไทย ของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล


ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลโดยการให้สัตยาบันแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 นับเป็นประเทศที่ 162 ของสมาชิกสหประชาชาติ โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้

  • วันที่ 21 ธันวาคม 2553 - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ และได้นำเรื่องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ
  • วันที่ 26 เมษายน 2554 - ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ ของไทย
  • วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 - รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศยื่นสัตยาบันสารสำหรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ฯ ต่อองค์การสหประชาชาติ
  • วันที่ 14 มิถุนายน 2554 - อนุสัญญา ฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย

ในการเข้าเป็นภาคีนั้น ประเทศไทยมีคำประกาศแนบท้ายการให้สัตยาบันในลักษณะคล้ายข้อสงวน ดังต่อไปนี้

  • รัฐบาลไทยจะดำเนินการทบทวนกฎหมายและข้อบังคับภายในของตนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • รัฐบาลไทยไม่ผูกพันคำประกาศหรือการแสดงท่าทีที่มีวัตถุประสงค์ เป็นการตัด หรือเปลี่ยนแปลงขอบเขตทางกฎหมายตามบทบัญญัติ และไม่ผูกพันโดยกฎหมายภายในใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
  • การให้สัตยาบันของไทยไม่เป็นการรับรองหรือยอมรับการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ของรัฐภาคีใด ๆ
  • รัฐบาลไทยเข้าใจว่า ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ การใช้เสรีภาพในการเดินเรือที่สอดคล้องกับบทบัญญัติจะไม่รวมถึงการใช้ทะเลในทางไม่สันติโดย ปราศจากความยินยอมของรัฐชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกทางทหาร หรือกิจกรรมที่กระทบต่อสิทธิและผลประโยชน์ของรัฐชายฝั่ง และไม่รวมถึงการคุกคามหรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดน เอกราชทางการเมือง สันติภาพ หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง
  • รัฐบาลไทยสงวนสิทธิที่จะทำคำประกาศที่เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทในการตีความ หรือการใช้อนุสัญญา ฯ เมื่อเวลาที่เหมาะสม

ใกล้เคียง

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อนุสัญญาแรมซาร์ อนุสัญญาอิสตันบูล อนุสัญญาชวานปี๋ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาเจนีวา อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล