การทำงาน ของ อภิรักษ์_โกษะโยธิน

ภาพ อภิรักษ์ พบชาวบ้าน

นายอภิรักษ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ก่อนที่จะเข้าสู่วงการเมือง เริ่มจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนาม พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 การลงคะแนนเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเป็นเอกฉันท์ ประกาศให้ นายอภิรักษ์ เป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2547หลังได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อมานายอภิรักษ์ได้รับเลือกตั้งให้เป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548

ขณะออกรายการ ตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอสชี้แจงถึงการยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ

ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551 นายอภิรักษ์ได้ยุติการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชั่วคราว พร้อมกับได้ตั้ง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ รักษาการแทน เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) แจ้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการชี้มูลความผิดหรือส่งเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลแล้ว[3] และในวันที่ 12 เมษายน ปีเดียวกัน ได้กลับมาทำงานอีกครั้งเนื่องจากครบวาระการพักงาน โดยเริ่มงานแรกคือ การสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ที่ท้องสนามหลวง เนื่องในงานเทศกาลสงกรานต์ของกรุงเทพมหานคร

ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีนี้ นายอภิรักษ์ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งในเวลา 15.30 น. ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมิได้มีผลบังคับให้ต้องทำถึงขนาดนั้น แต่นายอภิรักษ์ระบุว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่การเมืองไทย ทั้งนี้ให้มีผลในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสร็จสิ้น[1]

ในปี พ.ศ. 2552 นายอภิรักษ์เข้ารับตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของรัฐบาล โดยร่วมในองค์ประกอบคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อเร่งรัดโครงการตามนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศไทยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผลักดันงานด้านการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายด้านการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งจากเหตุอุทกภัยและจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ. 2553–2554

ในปี พ.ศ. 2553 นายอภิรักษ์ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเขต 2 กรุงเทพมหานคร แทนที่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ไปด้วยเหตุถือครองหุ้นส่วนของบริษัทไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550[4] ซึ่งนายสมเกียรติก็ไม่ขอลงสมัครอีกเนื่องจากอายุมากแล้ว ทางพรรคจึงได้มีมติเลือกนายอภิรักษ์ให้ลงสมัครแทน และนายอภิรักษ์ก็ได้รับคะแนน 71,072 คะแนน ชนะ นายพงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 30,506 คะแนน[5] และได้รับการรับรองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร[6] ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8[7] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย

ซึ่งต่อมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินให้นายอภิรักษ์พ้นข้อกล่าวหาในคดีรถดับเพลิงเนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีผลก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งแล้ว และได้มีการดำเนินการเพียรพยายามรักษาผลประโยชน์ของกทม. จนได้รับผลประโยชน์คืนให้กับกทม.อีก 250 ล้านบาท

ประวัติการทำงาน

การดำรงตำแหน่งอื่นๆ

  • อดีตประธานนักศึกษา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2528)
  • อดีตกรรมการศูนย์ฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2534)
  • อดีตกรรมการสมาคมศิษย์เก่า คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2536)
  • อดีตกรรมการที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการอำนวยการ การส่งเสริมการประเมินคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2542)
  • อดีตประธานกลุ่มบริหารการตลาด และกรรมการอำนวยการ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2545)
  • อดีตกรรมการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2546)
  • อดีตผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2553)
  • อาจารย์พิเศษ
    • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ
    • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • กรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ที่ปรึกษา สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-สหราชอาณาจักร
  • ประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • ประธานสโมสรฟุตบอลแบงค็อกยูไนเต็ด
  • ประธานสถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย
  • นายกสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาในพระบรมราชูปถัมภ์

ใกล้เคียง

อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อภิรักษ์ โกษะโยธิน อภิรัฐมนตรีสภา อภิรัต ศิรินาวิน อภิรักษ์ อ้นทอง อภิรัฐ จรูญโรจน์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข อภิรดี ภวภูตานนท์ อภินันท์ ประเสริฐวัฒนกุล อภิรดี ยิ่งเจริญ

แหล่งที่มา

WikiPedia: อภิรักษ์_โกษะโยธิน http://203.155.220.230/gov/history.htm http://www.atnnonline.com/Politics-NEWS/%E0%B8%81%... http://www.js100.com/index_t.php http://news.sanook.com/gallery/gallery/978673/1879... http://news.sanook.com/politic/politic_320367.php http://women.sanook.com/work/worklife/life_04544.p... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/B/...