ประวัติ ของ อมรา_พงศาพิชญ์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ อมรา พงศาพิชญ์ หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ จบการศึกษาสาขามานุษยวิทยา ระดับปริญญาตรี B.A.(Anthropology) จาก University of California, Davis รัฐ California (พ.ศ. 2510) ศึกษาระดับปริญญาโท (พ.ศ. 2512) และเอก (พ.ศ. 2517) ทางด้าน Anthropology จาก University of Washington, Seattle หลังจากจบการศึกษาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี พ.ศ. 2529-2535 และ 2540-2545) จนเกษียณอายุในตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มีตำแหน่งทางวิชาการ เป็นศาสตราจารย์ ระดับ 11 และยังคงสอนหนังสือและดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2552 ผลการประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากผู้สมัครเข้ารับการสรรหา จำนวน 133 คน อาจารย์อมราได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ในรายชื่อ 7 คนดังที่ได้คัดเลือกในเบื้องต้นเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นจึงจะมีการนำรายชื่อส่งให้วุฒิสภาในวันที่ 9 เม.ย. 2552 เพื่อไปตรวจสอบประวัติและให้การเห็นชอบ หลังจากวุฒิสภาเห็นชอบแล้วทางคณะกรรมการฯก็จะประชุมกันเองเพื่อเลือกประธานฯ เมื่อได้ประธานฯแล้ว วุฒิสภาจะนำเสนอขึ้นทูลเกล้าฯในคราวเดียวกัน ทั้งบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเป็นประธานฯ และกรรมการฯ ต่อไป[2]

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ที่ประชุมวุฒิสภา มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ลงคะแนนด้วยวิธีลับ เห็นชอบให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน เป็น กสม. ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ได้รับคะแนนเห็นชอบสูงสุด 131 เสียง (ไม่มีผู้ไม่เห็นชอบ) และไม่ลงคะแนน 6 เสียง [3] เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2552 ได้มีการประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผลของมติที่ประชุมได้เลือก ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป [4][5]