ผลงานและคำสอน ของ อสังคะ

ท่านอสังคะบำเพ็ญภาวนาอย่างจริงจังนานหลายปี กล่าวกันว่าในช่วงเวลานั้น ท่านมักเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อสดับพระธรรมเทศนาของพระศรีอารยะเมตไตรย โพธิสัตว์ และกล่าวกันว่า ผู้ที่จะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นจะต้องมีภูมิวิปัสนากรรมฐานขั้นสูง เรื่องราวตอนนี้ได้รับการบันทึกและถ่ายทอดโดยท่านปรมารถะ พระภิกษุชาวอินเดีย ซึ่งมีช่วงชีวิตระหว่างศตวรรษที่ 6 [7] ทั้งนี้ พระถังซำจั๋งยังได้กล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า [8]


ในป่ามะม่วงใหญ่ห่างจากนครอโยธยาไปทางเบื้องหรดีประมาณ 5 - 6 ลี้ มีพระอารามแห่งหนึ่งที่พระโพธิสัตว์อสังคะรับพระธรรมเทศนาและสังสอนสัปบุรุษทั้งหลาย ในยามราตรีท่านจะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเข้าเฝ้าพระศรีอารยะเมตรไตรย โพธิสัตว์ เพื่อศึกษาคำสอนโยคาจารภูมิศาสตร์ คำสอนมหายานสูตรอลังการศาสตร์ คำสอนมัธยันตะวิภาคศาสตร์ เป็นอาทิ ในยามทิวา ท่านจะเทศนาหลักธรรมอันลึกซึ้งเหล่านี้แก่มหาสมาคม



ท่านอสังคะรจนาผลงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมของนิกายโยคาจาร เช่นคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ คัมภีร์มหายานสังเคราะห์ และอภิธรรมสมุจจัย เป็นอาทิ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาสายจีนและทิเบตมีความเห็นขัดแย้งกันบางประการเกี่ยวกับผลงานของท่านอสังคะ ว่าชิ้นใดเป็นของท่านอย่างแท้จริง และชิ้นใดเป็นของพระเมตไตรย [9] นอกจากนี้ ฝ่ายจีนและฝ่ายทิเบตยังไม่ลงรอยกันว่า คัมภีร์รัตนโคตรวิภาคเป็นงานรจนาของท่านอสังคะหรือไม่ ซึ่งฝ่ายทิเบตเห็นว่าใช่ ขณะที่ฝ่ายจีนเห็นว่าเป็นผลงานของท่านสถิรมติ หรือท่านสารมติ ซึ่งในประเด็นนี้ Peter Harvey นักวิชาการด้านศาสนาเห็นว่า ข้อเสนอของฝ่ายทิเบตมีความเป็นไปได้น้อยมาก ขณะที่ท่าน Walpola Rahula นักวิชาการฝ่ายเถรวาทที่ได้ศึกษางานของท่านอสังคะมีความเห็นว่า อภิธรรมสมุจจัยมีความคล้ายคลึงกับคัมภีร์ฝ่ายสุตันตะปิฎกมากกว่าคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมของฝ่ายเถรวาท [10]