การออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนของออกซิน ของ ออกซิน

  • การชักนำการยืดขยายเซลล์ลำต้น และเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด ถ้าออกซินสูงเกินไปจะยับยั้งการเติบโตเพราะออกซินที่สูงเกินจะกระตุ้นให้พืชสร้างเอทิลีนออกมา และไปกดการยืดขยายตัวของเซลล์
  • การเพิ่มความยืดหยุ่นของผนังเซลล์ โดยเฉพาะในต้นอ่อนและเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด การเพิ่มความยืดหยุ่นของผนังเซลล์จะช่วยให้เซลล์ยืดขยายตัวได้
  • กระตุ้นการแบ่งเซลล์และการยืดขยายตัวของเซลล์ เกิดจากการเพิ่มความยืดหยุ่นที่ผนังเซลล์ เพิ่มความดันออสโมติกและลดความกดดันที่ผนังเซลล์ ทำให้เซลล์ขยายขนาดได้ง่าย และอาจจะส่งเสริมการสังเคราะห์โปรตีนที่จำเป็นต่อการเติบโต
  • เร่งการเติบโตของพืชทั้งในส่วนที่เป็นต้นและราก โดยปกติแล้ว ส่วนต่าง ๆ ของพืชตอบสนองต่อปริมาณออกซินไม่เท่ากัน ลำต้นต้องการออกซินสูงกว่าในราก ถ้าสูงเกินไปจะยับยั้งการเติบโต
  • ส่งเสริมการเจริญของไซเลม ซึ่งจากการศึกษาในแคลลัส เมื่อเติมออกซินลงไป ออกซินจะช่วยให้การเชื่อมต่อของเนื้เยื่อลำเลียงในแคลลัส ทำให้แคลลัสเกิดเป็นตา การเพิ่มน้ำตาลและออกซินลงในอาหารเลี้ยง ทำให้แคลลัสเจริญเป็นลำต้นและกลายเป็นพืชต้นใหม่
  • การเพิ่มกิจกรรมของกรดนิวคลีอิก โดยออกซินเช่น IAA มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์ RNA โดยออกซินอาจจะมีบทบาทช่วยในการเข้าถึงยีน เช่นช่วยให้ฮิสโตนหลุดออกจาก DNA ทำให้ RNA polymerase II โดยเฉพาะการสร้างเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการยืดขยายของผนังเซลล์
  • การยับยั้งการร่วงของใบ การร่วงของใบเกิดจากการเกิดชั้นก่อการร่วงที่ผนังเซลล์ของเซลล์ในแนวดังกล่าวจะเกิดการแยกออกจากกิ่งหรือต้น ในเนื้อเยื่ออ่อนที่มีออกซินสูง การเกิดชั้นก่อการร่วงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าตัดแผ่นใบทิ้งเหลือแต่ก้านใบ แล้วนำออกซินมาทาที่ก้านใบ ก้านใบที่ได้รับออกซินจะร่วงช้ากว่า ถ้าให้ออกซินแก่ใบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก่อนโตเต็มที่ จะทำให้ใบร่วงช้ากว่าใบพืชที่ไม่ได้รับออกซิน
  • การยืดขยายความยาวของราก รากจะไวต่อความเข้มข้นของออกซินมาก IAA ปริมาณต่ำจะกระตุ้นการขยายตัวของรากได้ดี โดยที่ไม่มีผลต่อลำต้น ส่วนความเข้มข้นที่กระตุ้นการเจริญของลำต้นจะสูงเกินไปสำหรับราก จนกลายเป็นการยับยั้ง
  • การเกิดรากแขนง ออกซินมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดรากแขนง การตัดใบหรือตาอ่อนที่สร้างออกซินออกไปทำให้การแตกรากแขนงน้อยลง แสดงว่าการเกิดรากแขนงถูกควบคุมโดยออกซินที่สร้างจากลำต้น นอกจากนั้น ออกซินยังส่งเสริมการเกิดรากแขนงในกิ่งปักชำ โดยรากแขนงเกิดได้ดีจากโฟลเอมส่วนใกล้ ๆ ข้อ
  • ความเข้มข้นที่สูงเกินไปของออกซินจะยับยั้งการเจริญเติบโตและเป็นพิษต่อพืช โดยทำให้อวัยวะของพืชมีการเติบโตที่ไม่สัมพันธ์กัน เช่นแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้นแต่เซลล์ไม่ขยายขนาด อวัยวะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง การเจริญของพืชลดลง และหยุดไปในที่สุด

การเกิดอวัยวะของพืช

เมื่อออกซินนำไปสู่การสร้างอวัยวะ ออกซินจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมพัฒนาการของพืช หากไม่มีการควบคุมด้วยฮอร์โมน พืชจะเป็นเพียงกลุ่มของเซลล์ที่คล้ายกัน การทำงานออกซินเริ่มขึ้นในตัวอ่อนของพืชที่ทิศทางการกระจายของออกซิน เกี่ยวข้องกับการกำหนดขั้วของเจริญเติบโตและการพัฒนา ซึ่งจะไปเป็นยอดและรากแรกเกิด ออกซินช่วยให้พืชรักษาขั้วของการเจริญเติบโตและการแตกกิ่งก้านได้ตลอดชีวิตของการเติบโต

หลักการสำคัญของการเกิดอวัยวะในพืชขึ้นอยู่กับการกระจายของออกซิที่ปลายยอด ซึ่งหมายความว่าออกซินผลิตมากที่ตายอด แพร่กระจายลงมาและลดการพัฒนาของตาข้างที่จะแข่งขันกับตายอดเพื่อแย่งแสงและสารอาหารที่เรียกการข่มของตายอดต่อตาข้าง (apical dominance) โดยทั่วไปในพืช เมื่อมีตายอดอยู่ จะข่มการเจริญของตาข้างทำให้ตาข้างเติบโตช้า ถ้าตัดปลายยอดออก ตาข้างจะเติบโตได้ทันที การข่มของตายอดอาจมาจากส่วนยอดบดบังแสงไว้ทำให้ตาข้างได้รับแสงไม่เต็มที่

การกระจายของออกซินที่ไม่สม่ำเสมอ : ในการทำให้มีการเจริญเติบโตในส่วนที่ต้องการนั้น มันเป็นสิ่งจำเป็นที่ออกซินจะต้องทำงานในบริเวณนั้นมาก แม้ว่าจะไม่มีการสังเคราะห์ออกซินในทุกเซลล์ แต่แต่ละเซลล์ยังคงมีความสามารถในการสังเคราะห์ออกซินได้ และจะถูกกระตุ้นให้สร้างภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะ และยังมีการขนส่งออกซินเข้าสู่บริเวณที่ต้องการใช้ด้วย ในการขนส่งระยะทางไกล จะมีระบบเฉพาะที่มีทิศทางแน่นอนในการขนส่งระหว่างเซลล์ที่มีการควบคุม มันขึ้นอยู่ในการกระจายไม่สม่ำเสมอของตัวพาออกซินในเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งกำหนดให้ขนส่งออกซินในทิศทางที่ถูกต้อง การศึกษาในปี พ.ศ. 2549 พบโปรตีน PIN มีความสำคัญในการลำเลียงออกซิน[1]

การควบคุมการสร้างโปรตีน PIN ในเซลล์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการขนส่งออกซินในการเพิ่มปริมาณออกซินในบริเวณนั้นให้ถึงจุดสูงสุด จุดสูงสุดของออกซินช่วยในการพัฒนาของยอดและราก[2][3] เซลล์ที่อยู่รอบ ๆ บริเวณนั้นเป็นเซลล์ที่มีออกซินต่ำ ใน Arabidopsis การมีออกซินปริมาณต่ำในผลจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาของเนื้อเยื่อ[4] ในการสร้างดอกและผล การให้ออกซินแก่พืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันตั้งแต่ระยะแรกของการเจริญจะทำให้เกิดดอกเพศเมียมากขึ้น ละอองเรณูเป็นส่วนที่มีออกซินสูง สารสกัดจากละอองเรณูจะกระตุ้นการติดผลโดยไม่ต้องมีการถ่ายละอองเกสรที่เรียกว่าการเกิดผลลม (parthenocarpy) ซึ่งเป็นผลที่ไม่มีเมล็ด และมีประโยชน์ทางการค้า