ประวัติ ของ ออโตสเตอริโอแกรม

ในปี ค.ศ. 1838 ชาลส์ วีทสโตน (Charles Wheatstone) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ค้นพบการมองเห็นแบบสเตอริโอ (binocular vision) ซึ่งนำไปสู่การประดิษฐ์ เครื่องมองภาพ 3 มิติ (stereoscope) โดยการใช้ ปริซึม และ กระจก เพื่อทำให้เกิดการมองเห็นภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติ

ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1849-1850 เดวิด บรูว์สเตอร์ (David Brewster) นักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อต ได้พัฒนา เครื่องมองภาพ 3 มิติ ของ วีทสโตน โดยการใช้เลนส์แทนกระจกเพื่อลดขนาดของอุปกรณ์ลง นอกจากนั้นเขายังได้สังเกตพบว่าการจ้องมองรูปแบบซ้ำ ๆ ในกระดาษบุผนังนั้นจะทำให้เกิดอาการลวงตา เนื่องจากสมองจะพยายามประกบภาพเหมือนเข้าด้วยกัน ทำให้เหมือนมีผนังเสมือนปรากฏอยู่ข้างหลังผนังอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นหลักการพื้นฐานของ สเตอริโอแกรมแบบกระดาษบุผนัง

ในปี ค.ศ. 1959 เบลา จูเลส (Bela Julesz) นักจิตวิทยาชาวฮังการี ได้ค้นพบ สเตอริโอแกรมแบบจุดมั่ว ในขณะที่กำลังมองหาวัตถุที่ถูกอำพราง ในภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินสอดแนม ที่ ศูนย์วิจัยเบลล์ (Bell Laboratories) เขาได้ใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพจุดมั่วที่ดูคล้ายกันขึ้นสองภาพ ซึ่งเมื่อมองผ่าน เครื่องมองภาพ 3 มิติ จะทำให้มองเห็นภาพมีรูปร่างเป็น 3 มิติ

ในปี ค.ศ. 1979 คริสโตเฟอร์ ไทเลอร์ (Christopher Tyler) ลูกศิษย์ของจูเลส และเป็นนักจิตวิทยาการมองเห็น ได้รวมทฤษฎีของ สเตอริโอแกรมแบบกระดาษบุผนัง ซึ่งเป็นแบบภาพเดี่ยว กับ สเตอริโอแกรมแบบจุดมั่ว และสร้าง ออโตสเตอริโอแกรมแบบจุดมั่ว ภาพแรกขึ้น ซึ่งรู้จักกันในชื่อ สเตอริโอแกรมภาพเดี่ยวแบบจุดมั่ว ภาพประเภทนี้จะทำให้มองเห็นภาพ 2 มิติภาพเดียว เป็น 3 มิติได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมใด ๆ