การเผยแพร่ในประเทศไทย ของ อะกูป์ฟอร์เดอะริช

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สั่งระงับการขายหนังสือเล่มนี้โดยรองผู้จัดการของศูนย์หนังสือฯ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะหนังสือดังกล่าวมีการอ้างอิงงานเขียนของ พอล แฮนด์ลีย์ ผู้เขียน The King Never Smiles[3] ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย

ต่อมา หลังจากนั้นอีกเกือบหนึ่งปี กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกหนังสือที่ ตช.0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 เรื่อง "ขอความร่วมมือให้งดจำหน่าย หนังสือ A Coup for the Rich" ส่งมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดจำหน่ายหนังสือดังกล่าว โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างว่า “เนื้อหาในหนังสือมีข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ... อาจทำให้ปวงชนชาวไทยเข้าใจพระมหากษัตริย์ผิด” เอกสารลงนามโดย พล.ต.ต.จุตติ ธรรมมโนวานิช รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนหนังสือเล่มนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง โดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารและให้ความเห็นว่า “ให้ศูนย์หนังสือดำเนินการตามที่ตำรวจสันติบาลได้แจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร” ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551[4]