บทบาทในการตรวจจับแรงโน้มถ่วง ของ อะไมโลพลาสต์

แผนภาพแสดงประเภทต่างๆของพลาสติด

อะไมโลพลาสต์มีความสำคัญต่อการเบนเนื่องจากความโน้มถ่วง สตาโทลิทซึ่งเป็นอะไมโลพลาสต์ที่มีการพัฒนามาโดยเฉพาะ มีความหนาแน่นมากกว่าไซโทพลาซึม สามารถรวมกลุ่มที่ด้านล่างของเซลล์รับรู้แรงโน้มถ่วงที่เรียกว่าสตาโทไซต์[5] การรวมกลุ่มนี้เป็นกลไกสำคัญในการรับรู้แรงโน้มถ่วงของพืช ทำให้เกิดการกระจายฮอร์โมนออกซินแบบอสมมาตร ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวทำให้พืชลำต้นพืชมีความโค้งและเจริญเติบโตต้านเวกเตอร์ของแรงโน้มถ่วง[6][7] สำหรับในรากจะเจริญเติบโตไปตามแรงโน้มถ่วง พืชที่ขาดฟอสโฟกลูโคมิวเทส (phosphoglucomutase, pgm) เป็นพืชที่กลายพันธุ์ที่ไม่มีเม็ดแป้ง สตาโทลิทจึงไม่สามารถเกาะกลุ่มกันได้[8] พืชกลายพันธุ์นี้แสดงการตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับพืชที่ไม่กลายพันธุ์[8][9] พืชที่กลายพันธุ์สามารถทำให้มีการตอบสนองแบบเดียวกับพืชปกติได้ด้วยการเพิ่มค่าแรงโน้มถ่วงให้มากกว่าค่าบนพื้นผิวโลก (hypergravity)[9] ในรากจะรับรู้แรงโน้มถ่วงที่หมวกราก ซึ่งเป็นส่วนของเนื้อเยื่อปลายสุดของราก เมื่อนำหมวกรากออก รากจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้แรงโน้มถ่วง[5] อย่างไรก็ตามหากหมวกรากเจริญขึ้นมาใหม่[10] การตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของรากจะกลับมาอีกครั้ง ลำต้นพืชสามารถรับรู้แรงโน้มถ่วงด้วยเซลล์เอนโดเดอร์มิสที่บริเวณยอด[5]