ระบบอักษรพยางค์ ของ อักษรแอกแคด

ภาษาซูเมอร์กับภาษาแอกแคดแตกต่างกันมาก ภาษาซูเมอร์เป็นภาษารูปคำติดต่อซึ่งไม่มีการผันคำแต่ใช้การเติมปัจจัยหรืออนุภาคเข้ามาทำให้คำกลายเป็นวลีที่มีความหมายซับซ้อนขึ้น ภาษาแอกแคดเป็นภาษาที่มีการผันคำจากรากศัพท์ เพื่อสร้างคำใหม่ที่ใกล้เคียงกับคำเดิมแต่ความหมายเปลี่ยนไป โดยทั่วไป ภาษาตระกูลเซมิติก (รวมทั้งภาษาแอกแคด) รากศัพท์จะเป็นลำดับของพยัญชนะ 3 ตัว การผันคำใช้การเติมเสียงสระเข้าไประหว่างพยัญชนะ หรือโดยการลงอาคมและวิภัติปัจจัย ตัวอย่างจากภาษาอาหรับ รากศัพท์ ktb แสดงแนวคิดของการเขียน เมื่อผันคำนี้จะได้คำที่หมายถึงการเขียนมากมายเช่น /kitāb/ "หนังสือ", /kutub/ "หนังสือหลายเล่ม", /kātib/ "นักเขียน", /kataba/ "เขาเขียน" และอื่นๆ ในขณะที่ภาษาซูเมอร์ การวางรูปอักษรต่อเนื่องกันเพื่อสร้างประโยคจึงทำได้แต่ภาษาแอกแคดไม่อาจใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อกำหนดความหมายของคำให้ถูกต้อง เพื่อสร้างแบบการผันคำ จึงกำหนดสัญลักษณ์บางตัวใช้แสดงเสียงของคำมากกว่าความหมายจึงทำให้อักษรแอกแคดเป็นอักษรพยางค์

ในภาษาซูเมอร์ สัญลักษณ์หลายตัวเขียนต่างกันแต่แทนเสียงเดียวกัน เพราะมีคำโดดเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวแอกแคดนำระบบของชาวซูเมอร์มาใช้ คำพ้องเสียงเหล่านี้จึงติดมาด้วย มีสัญลักษณ์สำหรับพยางค์โครงสร้าง พยัญชนะ-สระ-พยัญชนะ (CVC) อีกวิธีหนึ่งใช้การเขียนพยางค์ที่เริ่มด้วยเสียงพยัญชนะแล้วต่อด้วยพยางค์ที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะ (Cv-VC) โดยพยางค์ทั้งสองต้องมีเสียงสระเหมือนกัน