อักษรคำและศัพท์กำหนด ของ อักษรแอกแคด

อักษรคำเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำหรือหน่วยย่อยของภาษา ศัพท์กำหนดเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ออกเสียงใช้แสดงความหมายโดยทั่วไปของคำที่ตามมา ทั้งอักษรคำและศัพท์กำหนดจัดเป็นกลุ่มเดียวกัน ศัพท์กำหนดเกือบทั้งหมดมาจากอักษรคำ แต่บางสัญลักษณ์อาจทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 อย่าง

สัญลักษณ์ตัวเดียวกันอาจแสดงคำต่างกันได้ ลักษณะนี้เริ่มพบในภาษาซูเมอร์ เมื่ออักษรคำเดียวกันใช้เขียนแทนคำที่เกี่ยวข้องกันแต่ออกเสียงต่างกัน การบ่งชี้ถึงความแตกต่างนี้ บริบทของคำจะมีความสำคัญมาก วิธีการหนึ่งที่ใช้บ่งชี้คำที่อักษรนั้นอ้างถึงคือส่วนเพิ่มของเสียง เป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงเสียงของอักษรนั้นๆและช่วยให้ผู้อ่านจำแนกคำได้ ตัวอย่างเช่น สัญลักษณ์ AN-ú แสดงว่าเป็นคำ šamû, ไม่ใช่ Anum อีกวิธีหนึ่งคือศัพท์กำหนด เช่น ลำดับ KÁ-DINGIR-RA ตามด้วยศัพท์กำหนด KI แสดงว่านี่เป็นชื่อเมือง มีเมืองเดียวที่เขียนว่า KÁ-DINGIR-RA, คือเมืองบาบิโลน ที่จริงแล้วอักษร KÁ แสดงคำ babu ("ทางเข้า"), DINGIR หมายถึง ilum ("พระเจ้า"), และ RA แสดงการกแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาซูเมอร์ใช้กับพระเจ้าลำดับข้างต้นจึงหมายถึง Babilum, หรือ "ทางเข้าของพระเจ้า", เทพเจ้าควรเป็นเทพมารดุคซึ่งเป็นเทพเจ้าของกรุงบาบิโลน

ด้วยธรรมชาติของการผันคำในภาษาแอกแคด อักษรคำจะแสดงรากศัพท์ของคำ เมื่อมีการผันจะเพิ่มส่วนเพิ่มของเสียงเข้าไปเพื่อแสดงคำที่ได้จากการผัน

อักษรแอกแคดเป็นระบบอักษรที่ซับซ้อนมาก สัญลักษณ์ที่ใช้มีราว 200 – 400 ตัว (ทั้งหมด 700 -800 ตัว) คำพ้องเสียงและการใช้สัญลักษณ์ที่มีหลายหน้าที่ ทำให้อักษรแอกแคดมีหลายวิธีในการสะกดเสียงเดียวกัน อักษรนี้เป็นระบบการเขียนที่สำคัญระบบหนึ่งในตะวันออกกลางยุคโบราณ ทำให้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศาสตร์ต่าง ๆ ของเมโสโปเตเมียเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน