ประวัติ ของ อาศิส_พิทักษ์คุมพล

อาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2490 ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยสืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[ต้องการอ้างอิง] ท่านเป็นบุตรของนายมะแอ(ฮัจญีอิสมาแอล) กับ นางน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด[1] สมรสกับนางรอปีอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตรธิดา 4 คน

ท่านศึกษาสายสามัญในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สำหรับสายศาสนานั้นท่านศึกษาที่ปอเนาะอัลนาซอนีย๊ะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ปอเนาะตุยง(ปัจจุบันคือโรงเรียนสกุลศาสน์อิสลาม) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี[2]

หลังจากนายประเสริฐ มะหะหมัดได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อท่านเพื่อโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่งท่านก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ

ในปี พ.ศ. 2539 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนาย ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 [3] ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553[4]

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 (ปัจจุบันคือ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท

วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ท่านได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ในภายหลังโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆทางการเมือง[5]ท่านลาออกในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 วัน