การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ของ อาสนวิหารกลอสเตอร์

ตัวโบสถ์เดิมเป็นแบบโรมาเนสก์ หรือ นอร์มัน ตามที่เรียกกันที่ประเทศอังกฤษ การต่อเติมภายหลังเป็นแบบกอทิกหลายยุค ตัววัดลึก 420 ฟุต กว้าง 144 ฟุต มีหอกลางที่ต่อเติมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 สูง 225 ฟุต ข้างบนมียอดสี่ยอด ตัวโบสถ์ด้านในเป็นเพดานสมัยอังกฤษตอนต้น มีห้องใต้ดินสำหรับเก็บศพ (Crypt) แบบโรมาเนสก์อยู่ภายใต้บริเวณร้องเพลงสวด ห้องใต้ดินของอาสนวิหารนี้เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของสถานที่แบบเดียวกันนี้ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศอังกฤษ อีกสามแห่งอยู่ที่ อาสนวิหารวูสเตอร์ อาสนวิหารวินเชสเตอร์ และอาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี จากนั้นก็มีหอประชุมนักบวช

ระเบียงฉันนบถคดด้านใต้เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ เพดานเป็นโค้งใบพัดหรือที่เรียกว่าเพดานพัด เหมือนกับทางด้านเหนือ ภายในตัววัด ทางด้านใต้เป็นลักษณะที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมกอธิควิจิตร บริเวณที่ทำพิธีเป็นลวดลายเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ทำทับงานเดิมที่เป็นแบบโรมาเนสก์ มีชาเปลประกบทั้งสองข้าง ระหว่างชาเปลสองชาเปลนี้เป็นชาเปลแม่พระ หน้าต่างทางด้านตะวันออกเป็นแบบเด็คคอเรทีฟแต่งด้วยกระจกสีสมัยยุคกลาง

สิ่งที่สวยงามที่สุดภายในโบสถ์นี้คือซุ้มที่ฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่ถูกปลงพระชนม์ที่ปราสาทบาร์คลี (Berkeley Castle) อาสนวิหารนี้มั่งคั่งขึ้นมาด้วยรายได้จากนักแสวงบุญที่มาถวายความเคารพที่ฝังพระศพนี้ อีกอย่างหนึ่งที่น่าดูคืออนุสรณ์ที่ทำจากไม้บอกโอค (bog oak) ของโรเบิร์ต เคอธอส ดยุกแห่งนอร์ม็องดี (Robert Curthose) ผู้เป็นพระโอรสองค์โตของ พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของโบสถ์

ระหว่างปี ค.ศ. 1873–1890 และ ปี ค.ศ.1897 ทางอาสนวิหารมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยเซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott)

ทางเดินกลาง ทางเดินข้าง

โถงทางเดินกลางรายด้านแนวเสาโรมาเนสก์สูงกว่า 9 เมตรเป็นเสาเดิมของโบสถ์ ภายในกลวงถมด้วยวัสดุก่อสร้าง ตอนล่างของเสาจะออกสีแดงซึ่งเป็นผลจากการความร้อนจากหลังคาที่ร่วงลงมาหลังจากเกิดไฟไหม้สองครั้ง หลังคาเดิมเป็นไม้เมื่อสร้างหลังคาใหม่ครั้งสุดท้ายจึงเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเป็นหิน ทรงเพดานเป็นแบบกอทิกอังกฤษยุคแรก โค้งจึงยังไม่แหลมมาก

สิ่งที่น่าสนใจของอาสนวิหารคือโถงทางเดินข้างที่กระหนาบทางเดินกลางด้านเหนือเป็นของเดิมตั้งแต่สร้างโบสถ์เป็นแบบโรมาเนสก์สังเกตได้จากหน้าต่างเป็นโค้งมนแต่งรอบโค้งบนด้วยรอยหยัก แต่ทางเดินข้างด้านใต้เป็นแบบกอธิครายด้วยหน้าต่างโค้งแหลม สาเหตที่เป็นคนละแบบเพราะทางเดินด้านใต้ทรุดเพราะสร้างบนที่ซึ่งเดิมเคยเป็นคูของโรมัน เมื่อกำแพงทรุดก็เป็นอันตรายที่อาจจะดึงตัวอาสนวิหารตามไปด้วย ถ้ายืนมองจากมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่ากำแพงด้านตะวันออกของวัดจะเอียงไปทางด้านนอกอาสนวิหาร จึงจำเป็นต้องสร้างและเสริมใหม่เป็นกอธิควิจิตร ซึ่งจะเห็นได้จากรูปดอกไม้ตกแต่งรอบหน้าต่าง ว่ากันว่าในวันหนึ่งๆ ช่างแกะหินจะแกะได้เพียง 5 ดอก เมื่อดูแต่ละหน้าต่างจะมีดอกไม้ตกแต่งเป็นร้อยแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะของผู้ก่อสร้างสมัยนั้น

ด้านนี้มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่น่าสนใจสองหน้าต่างหนึ่งเป็นรูปพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ยังทรงพระเยาว์ที่อาสนวิหารนี้ และเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษองค์เดียวที่ราชาภิเษกที่อาสนวิหารนี้ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ เหนือพระเศียรมิได้เป็นมงกุฏแต่เป็นที่รัดแขนของพระมารดา เพราะเกวียนเครื่องราชภัณฑ์ไปล่มลงในหนองที่ทางตะวันออกของอังกฤษจึงไม่มีอะไรเหลือ

หน้าต่างประดับกระจกสีทางด้านตะวันออกอีกบานหนึ่งเป็นรูปการสร้างอนุสรณ์ที่ฝังพระศพ และการฝังพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสที่อาสนวิหารนี้

บริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวด

ประตูเข้าด้านข้าง

บริเวณนี้อยู่หลังฉากหินมหึมาแยกจากโถงกลางมาเป็นศักดิ์สิทธิสถาน บริเวณนี้ได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเปลี่ยนจากแบบโรมานาสก์เดิมเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งเป็นสมัยปลายกอธิคที่เน้นแนวดิ่ง เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เพื่อให้สมพระเกียรติกับการเป็นสถานที่ที่เป็นที่ฝังพระศพพระราชบิดา โครงสร้างเดิมที่เป็นโรมานาสก์มิได้ถูกรื้อทั้งหมดทิ้งแต่ “ปะหน้า” ด้านศักดิ์สิทธิสถานด้วยกอทิก ฉะนั้นถ้าออกไปทางด้านนอกศักดิ์สิทธิสถาน (ทางเดินรอบบริเวณสวดมนต์) จะเห็นว่าหน้าต่างที่เห็นด้านในเป็นกอธิคด้านนอกจะยังคงเป็นโรมานาสก์ ภายในบริเวณสวดมนต์มีหน้าต่างประดับกระจกสีรอบด้านทำให้มีแสงส่องผ่านกระจกสีเข้ามาได้ทั่วถึงทำให้มีลักษณะโปร่ง เพดานประดับด้วยปุ่มหินนับร้อย แต่ชิ้นที่สำคัญที่สุดเป็นรูปพระเยซูประทานพร ล้อมรอบด้วยชิ้นทูตสวรรค์เล่นดนตรี

ครึ่งทางด้านใต้เป็นที่นั่งของนักร้องเพลงสวดและนักบวชที่แกะสลักเสลาอย่างสวยงาม ภายใต้ที่นั่งเป็นเก้าอี้อิงซึ่งเป็นคันยื่นออกมาราวหกนิ้วเมื่อพบม้านั่ง นักพรตคณะเบเนดิกตินต้องอธิษฐานวันละแปดหน เวลาสวดก็ต้องยืนทำให้บางครั้งเมื่อย ฉะนั้นภายใต้เก้าอี้พับจะมีที่รองนั่งสั้นๆ ยื่นออกมา กล่าวกันว่าใช้สำหรับให้พระเอนเวลาเมื่อยจะได้ไม่เห็นว่านั่ง การแกะสลักภายใต้ที่นั่งจะพบมากที่สุดในประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปมาก ลักษณะการแกะสลักก็น่าสนใจเพราะจะไม่เป็นศิลปะศาสนาแต่จะเป็นศิลปะชาวบ้านและเป็นการแสดงความมีอารมณ์ขันของช่างสลักไม้ เช่นอาจจะทำเป็นรูปสามีภรรยาตบตีกัน ภาพเงือก ภาพผู้หญิงทำอาหาร ภาพการเก็บเกี่ยว แต่ละอัน ๆ ก็จะไม่ซ้ำกัน

นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังมีอาสนะบิชอป แต่สิ่งที่แปลกกว่าอาสนวิหารคืออาสนวิหารกลอสเตอร์มีที่นั่งตรงกันข้ามกับบิชอปแต่มีขนาดใหญ่กว่าที่นั่งของบิชอป ที่ทำขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อนายกเทศมนตรีของเมืองกลอสเตอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่สามารถพูดหว่านล้อมให้ทหารของกองทัพของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ย้ายม้าไปผูกนอกอาสนวิหาร ไม่เช่นนั้นอาสนวิหารก็คงจะเสียหายมากกว่านั้น

ด้านเหนือของบริเวณสวดมนต์เป็นฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่สร้างในสมัยฟื้นฟูกอทิกในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อยู่หน้าบานกระจกประดับสีที่ใหญ่ที่สุดในอาสนวิหารที่เรียกว่า “The Great East Window”

คูหาสวดมนต์พระแม่มารี

มองจาก Lady chapel เข้าไปในบริเวณพิธี

ด้านหลังของบริเวณสวดมนต์และร้องเพลงสวดเป็นทางเดินรอบ (Ambulatory) จากทางเดินออกไปมีคูหาสวดมนต์สามคูหาๆ ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงกลางเรียกว่า Lady chapel เป็นคูหาสวดมนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับคูหาสวดมนต์แบบนี้ในอังกฤษ ตัวคูหามีหน้าต่างกระจกล้อมรอบจนไม่มีกำแพงดูเหมือนเรือนกระจก

ระเบียง

ระเบียงฉันนบถทางด้านเหนือของอาสนวิหารเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ ซึ่งเป็นสมัยปลายกอธิคที่เน้นเส้นดิ่ง รอบระเบียงเป็นซุ้มโค้งสลักด้วยหินอย่างวิจิตรตลอดทั้งสี่ด้าน ตัวระเบียงล้อมรอบลานสี่เหลี่ยม เพดานเป็นแบบเพดานพัด ซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ของอังกฤษ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นหอประชุมนักบวช ซึ่งเป็นที่ประชุมอ่านพระคัมภีร์ประจำวันเป็นบทบท ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อห้อง ทางด้านนี้เคยเป็นทางเข้าหอที่พระพำนักอยู่แต่มาถูกทำลายในสมัย พระเจ้าเฮนรีที่ 8 พร้อมกับโรงฉันของพระ ทางด้านเหนือของระเบียงเป็นซุ้มแคบยาวเกือบตลอดแนวภายในมีรางตลอดซึ่งใช้เป็นบริเวณซักล้าง ทางด้านใต้มีคูหาเล็กๆตลอดแนวใช้เป็นที่ที่นักบวชทำกิจกรรมต่างๆ

หน้าต่างประดับกระจกสี

สิ่งที่เด่นที่สุดของอาสนวิหารกลอสเตอร์คือหน้าต่างประดับกระจกสีแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ซึ่งมีรอบอาสนวิหารแต่ที่สำคัญคือบานใหญ่มหึมา 5 บานและหน้าต่างโดย ทอมัส เด็นนี (Thomas Denny)

  • ด้านหน้าหรือด้านตะวันตก
  • ด้านแขนกางเขนด้านใต้
  • ด้านแขนกางเขนด้านเหนือ
  • ด้านหลังหรือด้านตะวันออกหลังชาเปลแม่พระ หน้าต่างด้านนี้เสียหายมากจนต้องเอามาประกอบแบบหาที่ปะเข้าไปโดยไม่เป็นรูปอะไรแน่นอนผลที่ออกมาจึงเป็นกึ่งแอ็บสแตร็ค
  • กลางบริเวณพิธี หน้าต่างนี้ใหญ่ขนาดสนามเทนนิส สร้างเมื่อปีค.ศ. 1350 เป็นหน้าต่างที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษในสมัยนั้น บานกระจกแบ่งเป็นห้าชั้นๆแรกเป็นตราตระกูล ชั้นบนถัดไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ถัดไปเป็นพระเยซูยกมือทำเครื่องหมายประทานพร พระแม่มารีย์และสาวก ถัดขึ้นไปเป็นทูตสวรรค์
  • หน้าต่างโดย ทอมัส เด็นนีอยู่ภายในชาเปลเล็กทางด้านใต้ เป็นบานหน้าต่างกระจกสีสีน้ำเงินสดเป็นส่วนใหญ่ที่ทำเมื่อปีค.ศ. 1992 เป็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกสองบานประกบรูปกลางซึ่งเป็นรูปพระเยซูกับนักบุญทอมัส ชาเปลนี้ยังใช้เป็นที่สวดมนต์ตอนเช้าทุกวัน

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาสนวิหารกลอสเตอร์ http://www.flickr.com/search/?s=int&w=all&q=Glouce... http://www.hayquesufrir.com/gloucester-cathedral.p... http://www.paradoxplace.com/Photo%20Pages/UK/Brita... http://www.visitgloucester.info/ http://www.ofchoristers.net/Chapters/Gloucester.ht... http://npor.emma.cam.ac.uk/cgi-bin/Rsearch.cgi?Fn=... http://www.foreteevideo.co.uk/Gloucester.html http://www.gloucester.gov.uk/ http://www.gloucestercathedral.org.uk/ http://www.gloucestercathedral.org.uk/index.php?pa...