ประวัติ ของ อาสนวิหารกูต็องส์

ประวัติการก่อสร้างเริ่มปรากฏในหลักฐานเมื่อปี ค.ศ. 430 มีการสร้างวิหารซึ่งเป็นบาซิลิกาแห่งแรกของเมือง โดยนักบุญเอเร็บติโอลัส ซึ่งเป็นมุขนายกองค์แรกของกูต็องส์ และต่อมาถูกทำลายลงโดยการรุกรานของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 866 ซึ่งทำให้เมืองกูต็องส์เว้นวรรคจากการมีอาสนวิหารไปค่อนข้างยาวนาน

ในสมัยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 รอแบร์ มุขนายกองค์ถัดมา ได้ตัดสินใจสร้างอาสนวิหารขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้แล้วเสร็จในสมัยมุขนายกอีกองค์ถัดไป ได้แก่ ฌอฟรัว เดอ มงแบร ซึ่งอาสนวิหารแห่งนี้ได้ประกอบพิธีเสกขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1056 โดยมีดยุกกีโยมแห่งนอร์มัน (พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ สมัยก่อนพิธีราชาภิเษก) ร่วมในพิธี อาสนวิหารในขณะนั้นประกอบด้วยหอคู่แบบแปดเหลี่ยมขนาบบริเวณกลางโบสถ์ บริเวณเหนือจุดตัดกลางโบสถ์เป็นหอรับแสง และมีมุขโค้งด้านสกัด บริเวณร้องเพลงสวดในขณะนั้นยังไม่พบส่วนของจรมุข แต่ถูกขนาบด้วยทางเดินข้างสองชั้น

บริเวณภายใต้ส่วนของหินที่ตกแต่งในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก ยังพบส่วนที่เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ของอาสนวิหารในสมัยนั้น ได้แก่ บริเวณกลางโบสถ์ บริเวณทางเดินข้าง (ไม่พบชาเปลในบริเวณนั้น) รวมทั้งหน้าบันทางเข้าและหอคอยทั้งสอง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณร้องเพลงสวด บริเวณหอรับแสง และบริเวณแขนกางเขนของฝั่งทิศเหนือและใต้ซึ่งเคยเป็นแบบโรมาเนสก์ได้ถูกทำลายลงเพื่อทำการปรับปรุงให้เป็นแบบกอทิก ซึ่งในปัจจุบันยังพบส่วนที่เป็นโรมาเนสก์ได้ในบริเวณกำแพงด้านข้างของอาสนวิหาร

อาสนวิหารแบบกอทิก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1180 ได้เริ่มมีการปรับปรุงบูรณะบริเวณใต้หอทั้งสองเพื่อบรรจุออแกนขนาดใหญ่ในบริเวณระหว่างเสาของหอคอย[3] และเมื่อมีการแต่งตั้งมุขนายกองค์ใหม่ ได้แก่ อูก เดอ มอร์วีล ได้เริ่มการสร้างและบูรณะใหม่ในแบบกอทิกจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก[4] โดยบริเวณกลางโบสถ์ได้เริ่มในช่วงราวสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 13[5] โดยใช้โครงสร้างโรมาเนสก์เดิมและตกแต่งใหม่ในแบบกอทิก[6] ส่วนบริเวณแขนกางเขนควรจะต้องเริ่มราวปี ค.ศ. 1208 แต่ก็ล่าช้าโดยเริ่มในปี ค.ศ. 1218 ด้วยเหตุจากอัคคีภัย ซึ่งได้แล้วเสร็จต่อมาราวปี ค.ศ. 1225 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ยังได้พระราชทานเงินสำหรับการก่อสร้างชาเปลจำนวน 6 หลัง ซึ่งเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1209

บริเวณร้องเพลงสวดนั้นยังเป็นข้อถกเถียงกันถึงช่วงเวลาการก่อสร้าง นักประวัติศาสตร์อ็องเดร มูว์ซา และเอลี ล็องแบร์ สันนิษฐานว่าประมาณปี ค.ศ. 1220[7] โดยได้พิจารณาว่าการก่อสร้างมีแบบแผนเดียวกันกับอาสนวิหารบูร์โกส ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ. 1221 รอเบิร์ต แบรนเนอร์ สันนิษฐานว่าช่วงปี ค.ศ. 1230 และ ค.ศ. 1240[8] ส่วนฌ็อง บอนี และเออแฌน เลอแฟฟวร์-ปงตาลี เป็นช่วงปี ค.ศ. 1220-1255 และโจเอล เฮิร์ชมันน์ ได้สันนิษฐานว่าบริเวณจรมุขชั้นนอกและกำแพงของจรมุขชั้นในสร้างในช่วงปี ค.ศ. 1220-1235 และช่วงต่อมาเป็นการสร้างส่วนชั้นบนและเพดานโค้งของจรมุขชั้นใน ในช่วงปี ค.ศ. 1240[9]

ภาพร่างในปี ค.ศ. 1822

ในปี ค.ศ. 1223 มุขนายกอูก เดอ มอร์วีล สบทบทุนสร้างชาเปลอีก 2 หลัง ได้แก่ ชาเปลนักบุญจอร์จ และชาเปลนักบุญทอมัส แบ็กกิต[10] บริเวณร้องเพลงสวดน่าจะเสร็จสิ้นราวปี ค.ศ. 1238 ซึ่งตรงกับพิธีปลงศพของมุขนายกอูก เดอ มอร์วีล[11] มุขทางเข้าทิศใต้และตะวันตกเฉียงเหนือสันนิษฐานว่าเริ่มก่อสร้างราวปี ค.ศ. 1228 เนื่องจากใช้ช่างแกะสลักหินจากสำนักเดียวกับการก่อสร้างระเบียงคดของมง-แซ็ง-มีแชลที่แล้วเสร็จในปีเดียวกันคือ ค.ศ. 1228[12]

บริเวณกลางโบสถ์ (ราวปี ค.ศ. 1220–1235) เป็นแบบกอทิกนอร์มันเหมือนกับบริเวณร้องเพลงสวด กล่าวคือ ยอดหัวเสาแบบทรงกลมกลวง ช่องโค้งที่เรียวสูง และความกลมกลืนกันของสถาปัตยกรรมขององค์ประกอบที่ตกแต่งต่าง ๆ (เช่น บัวประดับ ลายหน้าบัน ลายหัวเสา เป็นต้น) เป็นหลักฐานให้เห็นถึงการต่อต้านสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศส และความเชื่อในประเพณีทางสถาปัตยกรรมแบบนอร์มอง ซึ่งยังเห็นได้ชัดบริเวณหน้าบันหลักของอาสนวิหาร ซึ่งประกอบด้วยเส้นตรงแนวดิ่งที่ปราศจากการประดับตกแต่งใด ๆ บริเวณเสา ต่อมาราวปี ค.ศ. 1270 ได้มีการเพิ่มชาเปลเข้าไปจำนวนหลายแห่งในช่องระหว่างเสาผนังของบริเวณกลางโบสถ์[13] ซึ่งมาสำเร็จในสมัยของมุขนายกฌ็อง แดแซ ชาเปลฝั่งทิศใต้ได้อุทิศให้มุขนายกรอแบร์ ดาร์กูร์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้มีการก่อสร้างชาเปลกลางขึ้นใหม่[14] อันเนื่องมาจากการปิดล้อมเมืองในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1358 โดยกองทัพทำโดยฌอฟรัว ดาร์กูร์ ได้ทำให้อาสนวิหารชำรุดเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุให้มุขนายกในขณะนั้น คือ ซีลแว็สทร์ เดอ ลา แซร์แวล ได้ทำการเปิดกำแพงและทำลายเสาลง โดยในโอกาสนี้ได้เพิ่มชาเปลเข้าไปอีก 6 หลังบริเวณทางเดินข้างชั้นล่าง บริเวณชั้นบนซึ่งเป็นระเบียงแนบตกแต่งด้วยรูปดาวสี่แฉก (Quadriobe) พร้อมทั้งเพิ่มหน้าต่างกุหลาบบริเวณเหนือหน้าบัน รวมทั้งสร้างชาเปลขนาดใหญ่บริเวณจรมุขอีกด้วย

เพื่อรับมือกับการหลั่งไหลของผู้แสวงบุญที่อาสนวิหารแห่งนี้ จึงเป็นผลให้มีการขยายต่อเติมเพื่อเพิ่มขนาดของวิหารขึ้นหลายครั้งครา ตัวอย่างสำคัญได้แก่ จรมุขที่ซ้อนกันสองชั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาเปลมากมาย โดยลักษณะคล้ายคลึงกับวิหารเก่าในเมืองอ็องบี (Hambye)

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง