ประวัติ ของ อาสนวิหารอาเมียง

ด้านหน้าโบสถ์สร้างครั้งเดียวเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1220 ถึง ค.ศ. 1236 ลักษณะจึงกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตอนล่างสุดของด้านหน้าโบสถ์เป็นประตูเว้าลึกใหญ่สามประตู เหนือระดับประตูขึ้นไปชั้นหนึ่งเป็นหินสลักขนาดใหญ่กว่าองค์จริงของพระเจ้าแผ่นดิน 22 พระองค์เรียงเป็นแนวตลอดด้านหน้าอาสนวิหารภายใต้หน้าต่างกุหลาบ สองข้างด้านหน้าประกบด้วยหอใหญ่สองหอ หอด้านใต้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1366 หอทางทิศเหนือสร้างเสร็จ 40 ปีต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1406 และเป็นหอที่สูงกว่า

เอกสารที่เกี่ยวกับประวัติการสร้างอาสนวิหารนี้ถูกทำลายไปหมดเมื่อสถานที่เก็บรักษาเอกสารสำคัญของโบสถ์ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปีค.ศ. 1218 และอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1258 ครั้งหลังนี้ไฟได้ทำลายตัวอาสนวิหารด้วย ต่อมามุขนายกเอวราร์ เดอ ฟูยี เริ่มสร้างอาสนวิหารใหม่แทนอาสนวิหารเดิมที่ไหม้ไปเมื่อ ค.ศ. 1220 โดยมีรอแบร์ เดอ ลูซาร์ช เป็นสถาปนิก และลูกชายของรอแบร์ คือ เรอโน เดอ กอร์มง เป็นสถาปนิกต่อมาจนถึง ค.ศ. 1288

จดหมายเหตุกอร์บี (Chronicle of Corbie) บันทึกไว้ว่าอาสนวิหารสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1266 แต่ก็ยังมีการปิดงานต่อมา พื้นโถงกลางภายในอาสนวิหารตกแต่งเป็นลวดลายต่าง ๆ หลายชนิดรวมทั้งลายสวัสดิกะ ลายวนเขาวงกต (labyrinth) ซึ่งปูเมื่อปีค.ศ. 1288 นอกจากนั้นก็มีระเบียงรูปปั้นไม่ใหญ่นัก 3 ระเบียง 2 ระเบียงอยู่ด้านเหนือและด้านใต้ของบริเวณร้องเพลงสวด และระเบียงที่ 3 อยู่ทางด้านตะวันเหนือของแขนกางเขน เป็นเรื่องราวของนักบุญต่าง ๆ รวมทั้งชีวประวัติของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา อาสนวิหารกล่าวว่าเป็นเจ้าของเรลิกชิ้นสำคัญคือศีรษะของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ซึ่งวัดได้มาจากวาลง เดอ ซาร์ตง ผู้ไปนำมาจากคอนสแตนติโนเปิล เมื่อกลับมาจากสงครามครูเสดครั้งที่ 4

รูปปั้นด้านหน้าข้างประตูอาสนวิหารที่บอกได้ว่าเป็นนักบุญที่มาจากแถว ๆ อาเมียงก็ได้แก่ นักบุญวิกตอริกุส, ฟุสกิอัน และแก็นติอัน มรณสักขีไม่นานจากกันในคริสต์ศตวรรษที่ 3 กล่าวกันว่าเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 มุขนายกฮอโนราตุส ผู้เป็นมุขนายกองค์ที่ 7 ของอาสนวิหารอาเมียงได้ขุดพบเรลิกของนักบุญทั้งสาม เมื่อพระเจ้าชีลเดอแบร์ที่ 2 แห่งปารีส พยายามยึดเรลิกก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่สามารถทำได้ก็ทรงอุทิศเงินก้อนใหญ่ให้กลุ่มลัทธิของผู้นิยมนักบุญทั้งสามและทรงส่งช่างทองมาทำเครื่องตกแต่งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญ[1]

นักบุญอื่นที่เป็นนักบุญท้องถิ่นที่มีรูปปั้นอยู่หน้าประตูคือนักบุญดอมิสในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นนักบวชที่อาสนวิหาร นักบุญอูลฟ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ผู้เคยเป็นลูกศิษย์ของนักบุญอูลฟ์และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีผู้เคร่งศาสนาในบริเวณอาเมียง นักบุญเฟร์มินในคริสต์ศตวรรษที่ 3 ผู้ถูกประหารชีวิตที่อาเมียง[2]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาสนวิหารอาเมียง http://www.britannica.com/eb/article-9106231 http://kunsthistorie.com/galleri/index.php?album=F... http://www.mcah.columbia.edu/Mcahweb/facade/body.h... http://www.mcah.columbia.edu/Mcahweb/facade/footno... http://www.mcah.columbia.edu/Mcahweb/index-frame.h... http://catholique-amiens.cef.fr/ http://whc.unesco.org/en/list http://whc.unesco.org/en/list/?search=&search_by_c... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.world-heritage-tour.org/europe/fr/amien...