รายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ของ อาสนวิหารแซ็ง-ฟลูร์

ภายนอก

ความยาวรวมของอาสนวิหารมีขนาด 65 เมตร และกว้าง 24.60 เมตร บริเวณกลางโบสถ์สูง 16.50 เมตร และจุดที่สูงที่สุดด้านในสูงถึง 44 เมตร ลานกว้างด้านหน้าอยู่บนความสูงที่ 892 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งถือว่าตั้งอยู่สูงที่สุดในทวีปยุโรป

สีของหินบะซอลต์ที่ดำสนิทและขนาดอันใหญ่โตของหอคอยคู่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส อันประกอบด้วยหน้าต่างบานคู่ตกแต่งอยู่โดยรอบนั้นให้ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนป้อมปราการ และลักษณะของด้านหน้าโดยรวมนั้นยึดรูปแบบทรงสมมาตรซึ่งดูหยาบและแข็งกระด้าง ซึ่งตรงกันข้ามกับความอ่อนโยนและความประดิดประดอยขององค์ประกอบต่าง ๆ ภายในของอาสนวิหาร

ด้านหลังของบริเวณพิธีของอาสนวิหารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวปราการเก่าในอดีตซึ่งในปัจจุบันเป็นจุดชมวิวแบบพานอรามาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแม่น้ำอ็องแดร์ แม่น้ำทรุยแยร์ และเทือกเขามาร์เกอรีดของฝรั่งเศส

ภายใน

ภายในนั้นถูกนำสายตาด้วยเสาสูงโปร่งเป็นเส้นตรงของบริเวณกลางโบสถ์ทั้งห้าช่วง ซึ่งด้านในสุดนั้นเป็นแสงสว่างจากบริเวณร้องเพลงสวด

พระเยซูองค์ดำ

ตั้งอยู่บริเวณร้องเพลงสวดช่วงระหว่างเสาฝั่งซ้ายมือ มีรูปพระเยซูซึ่งเป็นงานสลักไม้วอลนัตสีดำสนิทพบเพียงแห่งเดียวในยุโรปซึ่งมีอายุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1315 เรียกว่า "Le Beau Dieu Noir"[2] ซึ่งเหตุผลของการตั้งชื่อนั้นไม่ทราบได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เชิงเอกลักษณ์กับแม่พระฉวีดำซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยยุคกลาง

ชาเปล

ชาเปลนักบุญเปโตร และชาเปลนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ทั้งสองแห่งนี้ตกแต่งด้วยงานกระจกสีของเอมีล ตีโบ ซึ่งของชาเปลแห่งหลังนี้ บริเวณแท่นบูชานั้นประดับด้วยงานปีเอตะซึ่งทำจากหินปูนย้อมสีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15

ชาเปลบริเวณหลุมฝังศพจะพบหีบสักการะทำด้วยทองแดงสีทองอร่ามผลงานของช่างชาวปารีส (งานสมัย ค.ศ. 1897) ซึ่งใช้เป็นที่บรรจุเรลิกของนักบุญฟลูร์ และยังมีงานบรรจุร่างพระเยซูสมัยค.ศ. 1842 ของโฟฌีแน และรูปเขียน นักบุญแว็งซ็อง เดอ ปอล งานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 รวมทั้งงานสลักหินอ่อนรูปเหมือนของอดีตมุขนายกปีแยร์-อ็องตวน-มารี ลามูรู เดอ ปงปีญัก (ดำรงตำแหน่งในสมัยปี ค.ศ. 1857-1877)

บริเวณร้องเพลงสวด

ประกอบด้วยแท่นบูชาเอกทำจากหินอ่อนย้อมสี ซึ่งถูกคลุมด้วยซุ้มชิโบเรียมที่ทำจากไม้ปิดทอง และแท่นอ่านจากวัสดุเดียวกัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 18 บริเวณฐานเป็นรูปมนุษย์และพญาอินทรี

เก้าอี้ร้องเพลงสวดนั้นติดตั้งราวปี ค.ศ. 1852 ตั้งอยู่ด้านหลังของบริเวณร้องเพลงสวด ด้านบนเป็นงานกระจกสี (ค.ศ. 1851) ของเตเวอโน ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้งเมืองนี้ (นักบุญฟลูร์และโอดีลงแห่งกลูนี)

ในปี ค.ศ. 2010 มุขนายกแห่งแซ็ง-ฟลูร์ได้มอบหมายให้กูจี นักปั้นและโลหะชาวฝรั่งเศส ให้ผลิตเครื่องใช้ทางศาสนพิธีขึ้นใหม่อีกหนึ่งชุด ได้แก่ แท่นบูชา คาเทดรา (บัลลังก์) กางเขน โค้มระย้าตกแต่งแท่นบูชา ฯลฯ

แท่นเทศน์

เป็นผลงานของฌ็อง เปิช นักทำเครื่องเรือนชาวท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1868

จิตรกรรมฝาผนัง

บริเวณใกล้กับทางเข้าของวิหาร บริเวณระเบียงชั้นบนภายใต้ออแกนเป็นที่ตั้งของงานจิตรกรรมฝาผนังอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งถูกค้นพบอย่างไม่ได้ตั้งใจเมื่อปี ค.ศ. 1851 วาดเป็นเรื่องราวของแดนชำระทางซ้ายมือ และนรกทางฝั่งขวามือ

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง