ความเป็นมาและแนวคิด ของ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

แนวคิดปัจจุบันเห็นว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน แต่รากฐานของแนวคิดนี้ปรากฏมีมาตั้งแต่มัชฌิมยุค[1] โดยเป็นผลจากการคิดวิเคราะห์ของกลุ่มเคลื่อนไหวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเรียกตนเองว่า "ผู้เรืองปัญญา" (Enlightenment) คนเหล่านี้เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นตราสารซึ่งได้รับอำนาจมาจากการที่ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นผลิตผลของการที่ประชาชนแสดงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยการสร้างหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์การปกครองตนเอง[1]

ต่อมา ชาวลัทธิคาลวิน (Calvinism) ได้ตีความเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของฌ็อง โบแดง (Jean Bodin) เสียใหม่ การตีความดังกล่าวเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน[1] ชาวลัทธิคาลวินสร้างทฤษฎี "อธิปไตยสองด้าน" (double sovereignty) โดยเห็นว่า อำนาจอธิปไตยมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ "อำนาจอธิปไตยตามบุคคล" (majestas personalis) คือ อำนาจของผู้ปกครอง และ "อำนาจอธิปไตยที่แท้จริง" (majestas realis) คือ อำนาจอันเป็นของประชาชน[1] ภายหลัง กลุ่มหัวรุนแรง (radical) ในยุโรปได้ใช้ทฤษฎีดังกล่าวในการพิพาทเกี่ยวกับ "เทวสิทธิ์" (divine right) และ "อธิปไตยของปวงชน" (popular sovereignty) หลายครั้ง ตกผลึกเป็นการแบ่งแยกระหว่าง "อำนาจที่สถาปนาขึ้น" (constituted power) คือ อำนาจของผู้ปกครอง กับ "อำนาจที่จะสถาปนา" (constituent power) คือ อำนาจในการให้ผู้ปกครองมีอำนาจ[1]

การแบ่งแยกดังกล่าวส่งผลให้แนวคิดปฏิวัติในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น อิทธิพลที่จอห์น ล็อก (John Locke) ปรัชญาเมธีอังกฤษ มีต่อลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) ในสหรัฐอเมริกายังได้รับการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประกาศเอกราช (Declaration of Independence) ด้วยว่า[1]

"เมื่อการปกครองรูปแบบใด ๆ มาถึงจุดจบด้วยการทำลายตนเองเช่นนี้ ก็เป็นสิทธิของปวงชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างการปกครองนั้นเสีย แล้วสถาปนาการปกครองใหม่"

"Whenever any form of government becomes destructive of these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government."

แม้เป็นแนวคิดสมัยใหม่ แต่แนวคิดทำนองนี้ก็เป็นเสียงสะท้อนการอภิปรายที่มีมาแต่โบราณกาลเรื่อง ประชาชนสามารถอาศัยกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองได้หรือไม่ ตามที่นักบุญออกัสติน (Saint Augustine) เสนอไว้ในแนวคิดเรื่อง "กฎหมายไร้ธรรมหาใช่กฎหมาย" (lex iniusta non est lex)[2]

แนวคิดเรื่องประชาชนมีอำนาจตั้งแผ่นดินนี้ยังได้รับการใช้สถาปนาอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา แม้เป็นการขัดกับบทบัญญัติสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) ซึ่งเป็นข้อตกลงในการรวมแผ่นดินเป็นสหรัฐอเมริกาก็ตาม[1]

อนึ่ง แนวคิดดังกล่าวยังได้รับการอ้างถึงในวาทกรรมช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส หลวงพ่อเซเยส (Abbé Sieyès) นักทฤษฎีการเมืองชาวฝรั่งเศสซึ่งถือกันว่า เป็นบุคคลสำคัญในการสร้างทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เน้นย้ำว่า ประชาชนคือชาติและดำรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสถาปนาการเมือง ส่วนรัฐบาลไม่ใช่ชาติ เป็นเพียงสถาบันที่ได้รับมอบอำนาจมาจากชาติ[1] หลวงพ่อเซเยสยังระบุว่า สถาบันผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งการมอบอำนาจได้ เพราะเป็นอำนาจของชาติ[1] ข้อความคิดทำนองนี้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญของวาทกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญต้องยกร่างในนามของปวงชน[1]