ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ อำนาจอธิปไตยของปวงชน

สำหรับประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยสูงสุดได้มีขึ้นตั้งแต่สมัยการปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แต่ที่มาของอำนาจยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ จนกระทั่ง ร.ศ.130 แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนจึงเริ่มเกิดขึ้นจากความพยายามปฏิวัติรัฐบาลของพระมหากษัตริย์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งอีกยี่สิบปีถัดมา แนวคิดดังกล่าวจึงได้บังเกิดเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ.2475 ซึ่งได้ทำให้ที่มา หรือ แหล่งอ้างอิงอำนาจอธิปไตยสูงสุดในการปกครองประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากพระมหากษัตริย์ลงไปสู่ปวงชนชาวไทยทุกคน ดังปรากฏในมาตราที่ 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ด้วยการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มทางการเมืองที่นิยมในระบอบเก่า กับกลุ่มที่นิยมประชาธิปไตยสมัยใหม่ของการเมืองไทยภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ก็ได้ทำให้แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนเกิดความคลุมเครือในสถานะความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะรัฐธรรมนูญของไทยฉบับถัดมาทุกฉบับ (17 ฉบับ) ได้ดัดแปลงข้อความให้เป็นไปในลักษณะที่ว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย...” จึงทำให้เกิดแนวคิดการตีความว่า ประชาชนแม้จะเป็นแหล่งที่มาของอำนาจสูงสุด แต่ก็ได้ยกอำนาจสูงสุดนั้นให้แก่องค์พระมหากษัตริย์เพื่อทรงใช้อำนาจนั้นผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล เพราะหากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจใช้อำนาจนั้นโดยที่ประชาชนมิได้ถวายให้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานะความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของปวงชนดูจืดจางลง จากการเปลี่ยนแปลงเรื่องอำนาจอธิปไตย “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ประชาชนกันแน่ ซึ่งความคลุมเครือนี้สุดท้ายได้นำไปสู่กระแสการถวายคืนพระราชอำนาจ ในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองไทย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่มีใครสามารถพรากเอาไปได้ (unalienable rights) ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถคืนสิทธินั้นให้แก่ผู้ใดได้เลยนั่นเอง