อรรถาธิบาย ของ อำนาจอธิปไตยของปวงชน

อันที่จริงแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยนั้นเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ในงานเขียนเรื่อง “เดอะ รีพับลิค” (De Republica) ของ ฌอง โบแดง (Jean Bodin) ที่สนับสนุนให้รัฐบาลของรัฐสมัยใหม่ทุกรัฐ มีอำนาจสูงสุดที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” (sovereignty) ในการบริหารประเทศ (Franklin, 1973: 41-53)[2] แต่สิ่งที่ทำให้แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยในศตวรรษที่ 17 แตกต่างจากแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยในปัจจุบันอยู่ที่เรื่องของ “ที่มา” ของอำนาจอธิปไตย เพราะในศตวรรษที่ 17 ที่มาของอำนาจอธิปไตยมักหนีไม่พ้นที่จะต้องอ้างอิงจากพระผู้เป็นเจ้าตามอิทธิพลของแนวคิดเทวสิทธิ์ (divine rights) แต่เมื่อแนวคิดทฤษฎีสัญญาประชาคมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการอธิบายที่มาของอำนาจรัฐ และการกำเนิดรัฐจึงเริ่มทำให้แหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ จากพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นหมู่มวลมหาชน ผ่านข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมที่เรียกว่าสัญญาประชาคม และสัญญาประชาคมนั่นเองที่ทำให้ประชาชนได้กลายมาเป็นองค์อธิปัตย์แทนที่พระผู้เป็นเจ้า (Hinsley, 1986: 143)[3]

โดยนักคิดในสำนักทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ได้รับการกล่าวขาน และอ้างอิงมากที่สุดถึงแนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้นก็คือ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ผ่านแนวคิดเรื่องเจตจำนงร่วม (general will) ที่สนับสนุนให้ประชาชนทุกๆคนนั้นมีอำนาจในการปกครองโดยตรง ผ่านการออกเจตจำนงร่วมซึ่งหมายถึงการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ ผลประโยชน์สาธารณะในฐานะที่ประชาชนแต่ละคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพ (holism) ทั้งหมดของสังคมที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ (ฌอง ฌากส์ รุสโซ, 2550: 179-181)[4]

ในโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นพื้นฐานประการแรกๆ ที่จะต้องมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเหมือนๆกันในทุกประเทศ เพราะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของพลเมืองทุกๆ คน ซึ่งหากปราศจากหลักการที่ว่านี้แล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พลเมืองทุกคนในรัฐจะมีความเท่าเทียม และความเสมอภาคได้เลย และหากประชาชนไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม หรือ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประเทศนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยนั่นเอง

โดยการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของ และแหล่งที่มาของอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้นโดยมากแล้วมักแสดงผ่านการที่ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน นั้นก็คือการใช้สิทธิของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจ ซึ่งสิ่งนี้ได้ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการแสดงออกซึ่งแนวคิดดังกล่าวของประเทศเสรีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีรูปแบบรัฐบาลเป็นแบบระบบรัฐสภา หรือ ระบบประธานาธิบดี หรือ รูปแบบอื่นใดก็ตาม ดังนั้นผู้ที่จะขึ้นมาขับเคลื่อนกลไกของอำนาจรัฐทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการของประเทศเสรีประชาธิปไตยจึงย่อมต้องมีที่มาหรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องเกี่ยวโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง