สถานที่ท่องเที่ยว ของ อำเภอขุขันธ์

วัดเจ๊กโพธิพฤกษ์

อยู่ในตำบลห้วยเหนือ เป็นวัดที่มีประวัติแปลกไปจากวัดอื่น ๆ เพราะสร้างโดยคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองขุขันธ์ในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือ

  • ปราสาทกุด หรือปราสาทวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์ ตั้งอยู่ในเขตวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์ บริเวณบ้านเจ๊ก ต.ห้วยเหนือ อ.ขุขันธ์ เป็นโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลาย กลายเป็นเนินโบราณสถาน มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนเนินดินใหญ่ ผนังแต่ละด้านจะก่ออิฐเป็นช่องคล้ายประตู โดยก่ออิฐทึบทั้งหมด มีความสูงประมาณ 15 เมตร ส่วนยอดหักพังลงมาจนถึงเรือนธาตุ โบราณสถานแห่งนี้คงสร้างมาในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือพุทธศตวรรษที่ 23-24 และปราสาทนี่เองสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น ปราสาทสี่เลี่ยมโคกลำดวน ในอดีต ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน หรือเมืองขุขันธ์ ปราสาทวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์
  • ตู้พระธรรมของวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์ เป็นงานศิลปะฝีมือที่สวยงามมาก ผู้พระธรรมลายรดน้ำมีขนาด 1.58 เมตร กว้าง 0.64 เมตร ยาว 0.93 เมตร บานประตูเขียนลายกนกเปลว ด้านข้างทั้งสองเขียนลวดลายพันธุ์ไม้ลวดลายที่เขียนขึ้นมีภาพเล่าเรื่องประกอบทุกด้านลักษณะลวดลายของตู้พระธรรมนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก ภาคกลางอยู่มาก ถึงแม้จะมีสอดแทรกลายพื้นเมืองอยู่บ้านก็ตามลายกรอบบานประตูดอกไม้คล้ายดอกพุดตานและขาตู้ซึ่งมีลักษณะแบบจีนนิยมทำกันอย่างแพร่หลายในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงสันนิษฐานได้ว่าตู้พระธรรมนี้มีอายุได้ 100 ปี มาแล้วหรือ ในราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์
วัดเขียนบูรพาราม

วัดเขียนบูรพาราม เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของอำเภอขุขันธ์ ตั้งอยู่ที่บ้านพราน ตำบลห้วยเหนือ​ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2323 สมัยพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(เชียงขัน) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองขุขันธ์อีกองค์หนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลต่างพากันมากราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต เมื่อได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเมืองขุขันธ์ ผนังและฐานของอุโบสถก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยสังกะสี ที่ขอบโครงหลังคาโดยรอบแกะสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา ส่วนที่จั่วสลักเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแกะสลักในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่เรียกว่า หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3.50 เมตร สูง 6.80 เมตร มีลักษณะศิลปะที่ผสมผสานกัน ระหว่างศิลปล้านช้าง และศิลปะอยุธยาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวขุขันธ์มาแต่ในอดีต ภายนอกอุโบสถทั้งสี่มุมมีธาตุ ลักษณะศิลปะล้านช้างตั้งอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียงสามองค์ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุด อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อย ที่จังหวัดยโสธร วัดเขียนบูรพาราม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2533 มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 50 ตารางวา

วัดกลางอัมรินทราวาส

เป็นวัดขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์การศึกษาและการบริหารการปกครองสงฆ์อำเภอขุขันธ์

วัดโสภณวิหาร

ตั้งอยู่ที่ ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

วัดลำภูรัมพนิวาส

วัดลำภู ตั้งอยู่ ณ ตำบลใจดี เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในยุคแรกเริ่มของการก่อเกิดของเมืองขุขันธ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2133 เชื่อกันว่าเป็นวัดเคยเป็นที่จำพรรษาของพระราชครูบัว ซึ่งเป็นอาจารย์ของตากะจะ หรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2249-2321 ในอดีตยุคนั้นวัดลำภู แห่งนี้เป็นจุดรวมพล และเป็นสถานที่ประกอบพิธีปรกพลให้ฮึกเหิมก่อนที่จะนำทัพของเมืองขุขันธ์ออกไปร่วมรบกับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี ในสมรภูมิต่างๆจนได้รับชัยชนะทุกครั้ง และนอกจากนี้ วัดลำภู ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วเนรมิต และองค์พญาครุฑ” สิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองขุขันธ์ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศต่างแวะเวียนกันมากราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลและเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

ศาลหลักเมืองขุขันธ์
  • ศาลหลักเมืองเก่า ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (ศรีสะเกษ-ขุขันธ์) บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดกลางอัมรินทราวาส มีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของคนไทยเชื้อสายจีน เนื่องจากได้รับการดูแลจากชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ ไม่ทราบหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองขุขันธ์ ซึ่งมีอายุ 200 กว่าปีมาแล้ว และมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2488 ฝ่ายพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่เมืองขุขันธ์ กะจะทิ้งระเบิดให้ตกลงตรงใจกลางเมือง ขณะนั้นก็ได้ยินเสียงเหมือนมีคนควบม้าไปทั่วเมือง ทำให้นักบินมองไม่เห็น จึงได้ปลดระเบิดลงที่"เวียลตาย"แทน ซึ่งก็คือพื้นที่ระหว่างโรงเรียนขุขันธ์วิทยากับบ้านบกในปัจจุบัน จึงทำให้เมืองขุขันธ์รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรในคราวนั้น
  • ศาลหลักเมืองใหม่ ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (ศรีสะเกษ-ขุขันธ์) บริเวณอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554 และยกเสาเอกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากมีการประชุมกันระหว่างฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสในพื้นที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน เห็นว่าศาลหลักเมืองเก่ามีขนาดเล็ก พื้นที่คับแคบ ทัศนียภาพไม่สง่างาม และไม่เป็นที่สังเกตของผู้ที่ผ่านไปมา จึงมีมติให้สร้างศาลหลักเมืองใหม่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยมีท่านเจ้าคุณพระรัตนากรวิสุทธิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในการดำเนินการก่อสร้าง และได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนในการบริจาคทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ในปัจจุบันก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)

ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (ศรีสะเกษ-ขุขันธ์) บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ดำเนินการก่อสร้างโดยเทศบาลตำบลห้วยเหนือ (ปัจจุบัน คือ เทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์) โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างส่วนหนึ่งจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ บริเวณโดยรอบของอนุสาวรีย์จะเป็นสวนหย่อม บริเวณด้านทิศใต้จะมีรูปปั้นพระยาช้างเผือกและครอบครัว ส่วนบริเวณด้านหน้าจะเป็นลานอนุสาวรีย์ ซึ่งจะถูกใช้ประโยชน์เป็นลานออกกำลังกายของผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไปชาวอำเภอขุขันธ์ ทุก ๆ ช่วงเวลาเย็น และใช้เป็นลานจัดกิจกรรม "งานรำลึกพระยาไกรภักดีฯ ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี" ซึ่งเป็นงานบุญปประเพณีที่สำคัญของอำเภอขุขันธ์ และจัดอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี

    • วัตถุประสงค์ในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์
  • 1. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และความดีของบรรพบุรุษ สมัยนั้นมีเจ้าเมืองทั้งหมดกี่คนและมีใครบ้าง
  • 2. เพื่อต้องการเทิดทูนความกล้าหาญ คุณงามความดีที่ท่านได้ก่อตั้งเมืองขุขันธ์ขึ้นมาเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเกียรติคุณของเจ้าเมืองขุขันธ์
  • 3. เป็นศูนย์รวมใจของชาวอำเภอขุขันธ์
  • 4. เป็นที่สักการะบูชาของชาวอำเภอขุขันธ์ และนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาได้กราบไหว้
  • 5. เสริมสร้างความสามัคคีของชาวอำเภอขุขันธ์ทุกคนให้เกิดความรักชาติ รักแผ่นดินเกิด
  • 6. ให้เกิดความภาคภูมิใจในบ้านเกิด
วิหารเจ้าแม่กวนอิมพันมือ

ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 220 (ศรีสะเกษ-ขุขันธ์) บริเวณด้านทิศเหนือของวัดเจ็กโพธิพฤกษ์

ปราสาทตาเล็ง
ปราสาทตาเล็ง

ปราสาทตาเล็ง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ตำบลปราสาท เป้นปราสาทหินโบราณที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

หนองสะอาง

ตั้งอยู่ที่หมู่ 12 บ้านสะอาง ตำบลห้วยเหนือ เป็นหนองน้ำที่มีขนาดใหญ่ และเป็นหนองที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอขุขันธ์ และยังเป็นแหล่งหาปลาของคนในชุมชน

โครงการทับทิมสยาม 06
  • หมู่บ้านทับทิมสยาม 06
  • อ่างเก็บน้ำทับทิมสยาม 06
  • สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่ภายในโครงการทับทิมสยาม 06 บ้านนาจะเรีย หมู่ที่ 13 ตำบลปรือใหญ่ อยู่ทางทิศใต้ของตำบลตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ระยะทางห่างจากตัวอำเภอขุขันธ์ ประมาณ 18 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่สองตำบลในสองอำเภอ คือ ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ กับ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ
  • ผาประสพชัย เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
  • สถานีเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ทับทิมสยาม 06
วัดถ้ำสระพงษ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอขุขันธ์ http://kk03348.blogspot.com/ http://kk03349.blogspot.com/ http://mueangkhukhanculturalcouncil.blogspot.com/ http://www.khukhan.info/ //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/...