ประวัติศาสตร์ ของ อำเภองาว

ยุคโบราณ

เมืองงาวโบราณ มีประวัติศาสตร์การสร้างเมืองมายาวนาน ยุคแรกไม่ปรากฏนามจารึกทางประวัติศาสตร์ชัดเจน สันนิษฐานชื่อต่างๆ ตามตำนานเล่าต่อกันมา อาทิ เวียงบน เวียงศรีดอนไชย คำว่างาวสันนิษฐานมาจากลำน้ำงาวที่ไหลผ่านเมือง เมืองงาวยุคแรกมีประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชื่อมโยงกับเมืองหิรัญเงินยางหรืออาณาจักรโยนกเชียงแสนอำเภอเชียงแสนตามตำนานกล่าวว่าเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน สมัยพระเจ้าชัยศิริ ถูกข้าศึกรุกรานบ่อยครั้ง ทั้งทัพเงี้ยว แกว มอญ อพยพเทครัวราษฎรหนีภัยสงครามลงมาทางทิศใต้ทำให้อาณาจักรโยนกเชียงแสนอ่อนแอล่มสลายลง ราษฎรที่อพยพลงมากลุ่มใหญ่อาศัยท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างบ้านเมืองใหม่ กลุ่มหนึ่งได้ สร้างเมืองภูกามยาวหรือเมืองพะเยา เป็นต้นตระกูลของพญาเจือง บรรพบุรุษ ขุนจอมธรรม เจ้าแคว้นพะเยา อีกกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาทางใต้อาศัยลุ่มลำน้ำแม่งาว บริเวณดอยห้วยอุ้มปากบ่องผาแดงเป็นที่อยู่อาศัยคือท้องที่บริเวณอำเภองาวปัจจุบัน สร้างเมืองเล็ก ๆ ขึ้นมามีพ่อเมืองปกครองสืบต่อเรื่อยมา เจ้าเมืองงาวยุคหนึ่งมีเชื้อสายพระยางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา นามว่าเจ้าแสนเมือง แสดงถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเมืองงาวและแคว้นพะเยา มีนัยว่าเมืองงาวยอมรับอำนาจอยู่ใต้การปกครองของแคว้นพะเยา ยึดระบบการปกครองรูปแบบการปกครองแบบเวียงต่างๆ จากแคว้นพะเยามีการสร้างเวียงต่าง ๆ เป็นเวียงบริวารกินอาณาบริเวณกว้าง ประกอบด้วย เวียงบน เวียงแหง เวียงปิน เวียงแป้น เวียงทิพย์ เวียงคุ้ม แต่ละเวียงมีขุนเวียงเป็นผู้ปกครอง จุดศูนย์กลางความเจริญที่เวียงบน บริเวณที่กล่าวมามีหลักฐานแสดงความรุ่งเรือง อาทิ วัดไชยมิ่งมงคล ซากร่องรอยเวียงแป้นโบราณที่บ้านแม่แป้น วัดพระธาตุตุงคำ หรือวัดศรีมุงเมืองในปัจจุบัน กาลเวลาต่อมาแคว้นพะเยาเสื่อมอำนาจล่มสลายลง เมืองงาวถูกผนวกเข้ากับเมืองนครลำปาง ปรากฏชื่อเมืองตามตำนานกล่าวว่าเมืองงาวเดิมมีความเจริญรุ่งเรืองมากจึงเรียกว่าเมืองนี้ว่าเมืองเงิน เจ้าผู้ครองนครเข้มแข็งชำนาญการสงคราม มีความเชี่ยวชาญการใช้ของ้าวเป็นอาวุธสำคัญการรบ เมื่อข้าศึกจากหัวเมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองเงี้ยว เข้ามารุกรานไม่อาจรุกล้ำเข้าไปถึงเมืองลำปางได้ ข้าศึกล่วงล้ำเข้าเขตแดนเมืองเงินก็ถูกตีแตกพ่ายกลับไปทุกครั้ง เจ้าผู้ครองเมืองมีความสามารถอาสาปราบปรามข้าศึก พวกฮ่อ เงี้ยว ที่มารุกรานถึงหัวเมืองเงี้ยว หัวเมืองลื้อ หัวเมืองเขิน เมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนา ได้รับชัยชนะมีชื่อเสียงร่ำลือ เจ้าเมืองนครลำปางได้ประทานง้าวด้ามเงินเป็นบำเหน็จคุณงามดีและความกล้าหาญ เป็นที่ยินดีแก่ชาวเมืองจึงเรียกเจ้าเมืองเงินว่าพระยาง้าวเงิน และเรียกชื่อเมืองว่า เมืองง้าวเงิน กาลเวลาผ่านมาได้เรียกเพี้ยนเป็น เมืองงาว อีกเหตุการณ์ตามจารึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ จารึกกล่าวถึงเมืองงาวเป็นสถานที่ประทับและสิ้นพระชนม์ของพ่อขุนงำเมือง เจ้าเมืองพะเยา สหายร่วมน้ำสาบานกับสองมหาราชคือ พญามังรายมหาราชแห่งนครเชียงใหม่และพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ตามตำนานกล่าวไว้ว่า "เมื่อพ่อขุนงำเมืองได้มอบราชกิจต่าง ๆ ในการปกครองบ้านเมืองให้พญาคำแดงราชบุตร แล้วเสด็จได้ไปประทับพักผ่อนและสวรรคตที่เมืองงาว ในปี พ.ศ. 1841

ยุคฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา

ตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของอาณาสยามแห่งใหม่ พระยากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ หลังจากที่อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองอาณาจักรอังวะนานกว่า 200 ปี พระเจ้ากาวิละเริ่มฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาเรียกว่ายุคเก็บผักใส่ส้าเก็บข้าใส่เมือง มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่ภายในใหม่ โดยรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยได้ทั้งสิ้น 57 หัวเมืองแบ่งเป็นเมืองน้อยใหญ่ได้ 4 ระดับ ได้แก่เมืองประเทศราชมี 5 เมืองได้แก่ นครเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มีอำนาจราชศักดิ์เทียบเท่าเมืองประเทศราช ต่อมาเมืองชั้นเอก สยามแต่งตั้งเจ้าเมือง เทียบเท่าตำแหน่งพระยาเจ้าผู้ครองนคร ศักดินา 2000 ไร่ ชาวเมืองเรียกเจ้าหลวงเหมือนเจ้าผู้ครองนคร เมืองงาว เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก เจ้าผู้ครองเมืองงาวสืบเชื้อสายขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครลำปาง พระเจ้ากาวิละแบ่งหัวเมืองเอกของอาณาจักรล้านนา ดังนี้

  • เมืองเชียงราย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองพะเยา ขึ้นกับนครลำปาง
  • เมืองเชียงแสน ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองเชียงของ ขึ้นกับนครน่าน
  • เมืองปาย ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองตาก ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองฝาง ขึ้นกับนครเชียงใหม่
  • เมืองงาว ขึ้นกับนครลำปาง


ยุครัตนโกสินทร์

พุทธศักราช 2386 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าหลวงน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 และ พระเจ้ามโหตรประเทศ, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๕ ขณะดำรงพระยศ เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ ได้ลงมายังกรุงเทพพระมหานครเพื่อทูลขอตั้งเมืองเชียงรายโดยให้เป็นเมืองขึ้นของนครเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้าหนานมหาวงศ์ โอรส พระเจ้าดวงทิพย์ เจ้าหลวงนครลำปาง เป็น "พระยาฤทธิ์ภิญโญยศ เจ้าเมืองงาวคนแรก จวบปี 2458 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยกเลิกระบอบเจ้าผู้ครองนครมาเป็น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด แขวง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองงาวจัดตั้งเป็นแขวงหนึ่งเรียก แขวงเมืองงาว ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นอำเภอเมืองงาว ขึ้นกับจังหวัดลำปาง มณฑลมหาราษฎร์ เป็นหนึ่งในอำเภอแรก พุทธศักราช 2481 มีตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอใหม่เปลี่ยนชื่ออำเภอทั่วราชอาณาจักร จากอำเภอเมืองงาว เปลี่ยนเป็น อำเภองาว จวบจนถึงปัจจุบัน


เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรท้องถิ่นอำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยราษฎรชาวอำเภองาวมีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด สร้างขวัญกำลังใจและนำความปลื้มปิติยินดีมาสู่เหล่าพสกนิกรชาวอำเภองาวอย่างล้นพ้น พร้อมกันนี้ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวอำเภองาว อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่เมือง อ่างเก็บน้ำห้วยส้ม อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ตำบลบ้านแหง เป็นต้น