สถานที่ท่องเที่ยว ของ อำเภองาว

สะพานโยง

สะพานข้ามลำน้ำงาว เป็นสะพานโยงแห่งแรกของประเทศเริ่มสร้างในปี 2469 เสร็จสิ้นเปิดใช้งานปี 2471 มีอายุประมาณ 90 ปี เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอ ตัวสะพานเชื่อมตำบลหลวงใต้และตำบลหลวงเหนือ เดิมใช้เป็นทางสัญจร โครงสร้างสะพานเป็นสะพานแขวนทำด้วยเหล็กไม่มีเสาตอม่อ ทางเดินเป็นหมอนไม้ทอดตัวผ่านแม่น้ำเป็นแหล่งพักหย่อนใจทิวทัศที่สวยงาม ไม่อนุญาตให้นำยานพาหนะสัญจรบนสะพาน สามารถเดินศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวคนอำเภองาวกับวิถีชุมชนริมแม่น้ำงาว

หล่มภูเขียว

หล่มภูเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ราว 1-2 ไร่ มีความลึกมากจนมองเห็นเป็นสีเขียวมรกตสวยงาม เป็นที่มาของคำว่าหล่ม ที่แปลว่าแอ่งน้ำ ความลึกแอ่งไม่สามารถระบุได้ สันนิษฐานว่าแอ่งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกในยุคหิน หรืออาจเกิดจากการยุบตัวของหินปูนซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วจมลงใต้น้ำ เรียกว่าหลุมยุบ (Sink Hole) ต่อมาจึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำ และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ระยะทางจากอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร

วัดพระธาตุม่อนทรายนอน

วัดม่อนทรายนอน สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2386 ชาวอำเภองาวเรียกว่าวัดดอย ตามตำนานปรากฏเชื่อมโยงกับพระโพธิสัตว์พระพุทธเจ้าแปลงกายเป็นเนื้อทรายเพื่อโปรดสรรพสัตว์ ถูกนายพรานตามล่าจนถึงสถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน ทรายตัวดังกล่าวได้แวะดื่มน้ำบริเวณตีนเขา กลายเป็นบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิให้ประชาชนกินดื่มทางขึ้นสู่วัดม่อนทรายนอน (วัดดอย) สามารถขึ้นได้สองทางได้แก่ทางถนนและทางบันไดนาคเริ่มจากบริเวณข้างบ่อน้ำทิพย์ตีนเขามีความสูงประมาณ 300 ขั้น

วัดจองคำ พระอารามหลวง

ตั้งอยู่ตำบลบ้านหวด บนถนนพหลโยธิน สายลำปาง-งาว ห่างจากตัวอำเภองาว 10 กิโลเมตร วัดจองคำเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ สันนิษฐานว่าก่อสร้างโดยชาวพม่าที่ทำสัมปทานป่าไม้เขตอำเภองาว ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด วิหารชัยภูมิเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ หลังเดิมถูกย้ายไปไว้ ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ หลังปัจจุบันสร้างขึ้นมาใหม่ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง วัดจองคำได้รับคัดเลือกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ถือเป็นพระอารามหลวงลำดับที่สามในจังหวัดลำปาง เป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัด แต่ละปีผู้ศึกษาปริยัติธรรมสามารถสอบเปรียญธรรมบาลีได้ถึง ป.ธ.9 รับพระราชทานอุปสมบทเป็นนาคหลวงหลายรูป เจ้าอาวาสและเจ้าสำนักปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเทพราชทินนาม พระเทพปริยัติมงคล

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1

ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ตั้งอยู่ริมถนนสายพหลโยธินจากจังหวัดลำปางไปพะเยา- เชียงราย ระยะทางจากตัวจังหวัดลำปาง 72 กิโลเมตร สองฝั่งถนนมีทิวทัศน์ป่าไม้ ภูเขา ผ่าน สถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานีบำรุงพันธุ์ไม้สัก สวนรุกขชาติห้วยทาก และศูนย์วิจัยแมลงและจุลชีววิทยาป่าไม้ที่ 1 และห่างจากตัวอำเภองาวประมาณ 12 กิโลเมตร

ศาลเจ้าพ่อประตูผา

ตำนานเจ้าพ่อประตูผา กล่าวว่าท่านเป็นขุนพลทหารเอกของเจ้าหลวงลิ้นก่าน เจ้าผู้ครองนครลำปาง ยุคอาณาจักรหริภุญชัย มีตำแหน่งเป็น พญามือเหล็ก ท่านได้สร้างวีรกรรมสละชีวิตช่วยเจ้าหลวงลิ้นก่านจากการรุกรานของกองทัพพม่า ตำนานกล่าวว่า กองทัพพม่าได้ยกกองทัพมาทางทิศเหนือเพื่อกรีฑาทัพเข้าตีเมืองนครลำปาง ณ บริเวณช่องประตูผา เมืองนครลำปางขณะนั้นมีฐานะเป็นนครรัฐอิสระมีเจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง) ปกครองภายใต้อาณาจักรหริภัญชัย กองทัพเจ้าหลวงลิ้นก่านได้ยกทัพออกต้านทัพพม่าที่บริเวณช่องประตูผา เมื่อกองทัพทั้งสองปะทะกัน ต่างฝ่ายต่างเสียรี้พลเป็นเป็นจำนวนมาก กองทัพเมืองนครลำปางเพี้ยงพล้ำเสียทีทัพพม่า ถูกทหารพม่าล้อมไว้บริเวณปากถ้ำประตูผา พญามือเหล็กได้พาทหารเข้าสู้รบเพื่อปกป้องเจ้าหลวงจนสุดความสามารถ เพื่อประวิงเวลารอทัพหนุนจากเมืองหริภัญชัยลำพูนมาช่วย จนถูกทหารพม่าฆ่าตายจนหมดสิ้น เหลือแต่พญามือเหล็กเพียงคนเดียว พญามือเหล็กยังคงยืนถืออาวุธขวางปากถ้ำต่อสู้กับทหารพม่าเป็นกำลังสามารถ ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เข่นฆ่าทหารพม่าตายลงเป็นจำนวนมาก จนทหารพม่าหวาดเกรงไม่สามารถผ่านเข้าไปในถ้ำที่ซ่อนของเจ้าหลวงลิ้นก่านได้แม้แต่คนเดียว ในที่สุดพญามือเหล็กได้เหนื่อยเจียนจะขาดใจตาย ก่อนจะตายยังมีจิตสำนึกได้ว่าหากตนเองล้มลงเมื่อใดแล้ว ทหารพม่าที่เหลือจะต้องเข้าไปทำร้ายเจ้าหลวงของตนเป็นแน่แท้ จึงไม่ยอมล้มลงเด็ดขาด และต่อสู้กับทหารพม่าต่อไปจนตัวเองขาดใจตายในท่ายืนถืออาวุธ ส่วนทหารพม่าที่เหลืออยู่ก็เข็ดขยาดไม่มีใครกล้าเข้ามาต่อสู้ด้วย ได้แต่ล้อมเอาไว้จนกระทั่งกองทัพหนุนของเมืองลำพูนยกตามมาช่วยทัน พม่าจึงถอยทัพหนีกลับไปเนื่องจากกำลังที่เหลืออยู่ไม่สามารถจะสู้ต่อได้ เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้วเจ้าหลวงลิ้นก่านได้พบว่า พญามือเหล็กได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยที่ยังยืนถืออาวุธยืนจังก้าพิงผนังหน้าปากถ้ำ ทำให้เมืองนครลำปางรอดพ้นจากการรุกรานของพม่าได้ เจ้าหลวงลิ้นก่านได้สรรเสริญยกย่องวีรกรรมของพญามือเหล็ก โดยยกย่องให้เป็นเจ้าพ่อประตูผานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นี่คือวีรกรรมอันกล้าหาญของเจ้าพ่อประตูผา พญามือเหล็กทหารเอกของเจ้าหลวงลิ้นก่านแห่งเมืองนครลำปาง กระทรวงกลาโหมได้อัญเชิญนามมาตั้งเป็นค่ายรบพิเศษประตูผา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของทหารตราบจนปัจจุบัน

อนุสาวรีย์พญางำเมือง

พ่อขุนงำเมือง หรือพญางำเมือง อดีตกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองภูกามยาว (พะเยา) เป็นพระสหายร่วมน้ำสาบาน กับ พญามังรายอดีต กษัตริย์เมืองเชียงราย และพระร่วงเจ้าหรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทั้งสามกษัตริย์ได้ทรงกระทำสัตย์ต่อกัน ณ บริเวณน้ำแม่อิง อนุสาวรีย์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำงาว ใกล้วัดท่านาคบ้านทุ่งศาลา ตำบลนาแก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บริเวณนี้เชื่อว่าเป็นสถานที่สวรรคต

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท

มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ มีอาณาบริเวณครอบคลุม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ และอำเภองาว ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน ตำบลบ้านหวด ระยะทางจากตัวเมืองลำปางประมาณ 66 กิโลเมตร แยกเข้าทางเข้าบริเวณปากถ้ำผาไทประมาณหนึ่งกิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณตีนถ้ำภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สวยงามมาก สลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยมากมายที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป เหตุการณ์สำคัญเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จประพาสถ้ำผาไท ในครั้งนั้นได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ปปร. ไว้ภายในถ้ำเพื่อระลึกในการเสด็จประพาส อุทยานแห่งชาติฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ระยะทางเริ่มจากตัวอำเภอดังนี้

  • หล่มภูเขียว 12 กิโลเมตร
  • น้ำตกแม่แก้ 18 กิโลเมตร
  • น้ำตกเก๊าฟุ 19 กิโลเมตร