สถานที่ที่น่าสนใจ ของ อำเภอท่าบ่อ

หมู่บ้านประมงน้ำจืด

อยู่ที่ตำบลกองนาง ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืดและเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์น้ำจืด ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง

หมู่บ้านทำยาสูบ

อยู่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนสี่แยกหนองคาย-ท่าบ่อ มีชาวบ้านทำไร่ยาสูบตามแนวเลียบริมฝั่งโขง มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ

หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ

อยู่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 (หนองสองห้อง)-ท่าบ่อ เป็นหมู่บ้านทำแผ่นกระยอ เป็นแผ่นแป้งสำหรับใช้ทำเปาะเปี๊ยะ มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน

อยู่ที่บ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดี ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและเครื่องใช้ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องมือหินขัด กำไลหิน หัวลูกศรหิน กระพรวนสำริด แท่งดินเผา มลายภาชนะดินเผาแบบเนื้อดิน บางชิ้นมีลายเขียนสีแดงแบบกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง เสมาหินสมัยทวารวดี และครกหินใหญ่ที่สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมโลหะ นอกจากนี้ยังได้พบเหรียญฟูนันสมัยทวารวดี

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารวัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2105 โดยใช้ทองเหลืองและทองแดงหนัก 1 ตื้อ (ประมาณ 12,000 กิโลกรัม) แล้วหล่อเป็นส่วน ๆ โดยหล่อพระเกศเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อหล่อเสร็จประกอบเป็นองค์พระแล้วได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดโกสีย์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีชมภูองค์ตื้อ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงทราบและได้เสด็จมาทอดพระเนตรแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ทรงสร้างพระวิหารเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ และปันเขตแดนให้เป็นเขตของพระเจ้าองค์ตื้อพร้อมทั้งมีบริวาร 13 หมู่บ้าน

พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริดขนาดใหญ่ และถือว่าใหญ่ที่สุดของจังหวัดหนองคาย มีพุทธลักษณะงดงามมาก หน้าตักกว้าง 3.30 เมตร สูง 4 เมตร ชาวหนองคายและประชาชนทั่วไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงนับถือหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาได้กำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการทุก 4 เดือน โดยแต่งขบวนช้าง ม้า และราบ มาสักการะจากวัดท่าคกเรือจนถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถนนนี้จึงได้ชื่อว่า "จรดลสวรรค์" มาจนถึงทุกวันนี้

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 มีการเวียนเทียนรอบพระวิหารพระเจ้าองค์ตื้อ และตอนเช้าวันแรม 1 ค่ำ มีการจุดบั้งไฟบูชาพระเจ้าองค์ตื้อ และเป็นวันสิ้นสุดงานสมโภชพระเจ้าองค์ตื้อ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ไปจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4