ประวัติ ของ อำเภอปทุมรัตต์

อ.ปทุมรัตต์ ตั้งอยู่ ณ บ้านตลาด ม.9 ต.บัวแดง เดิมหมู่บ้านนี้ อยู่ในเขตการปกครองของ ต.น้ำอ้อม อ.เกษตรวิสัย(เดิมชื่อ อ.หนองแวง)จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยมี ราษฏรอพยพมาจาก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม และเขต อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาตั้งถิ่นฐานและภูมิลำเนาประกอบอาชีพในการทำสวนและทำไร่เพราะหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ เมื่อสมัยก่อนพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ จึงเหมาะแก่การ เกษตรเป็นอย่างมาก และทำให้ราษฏรในเขตอำเภอใกล้เคียงดังกล่าว มีความสนใจการประกอบอาชีพในทางเกษตรเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้าน นี้ประมาณ 35 ครอบครัว และ ณ หมู่บ้านแห่งนี้มีหนองน้ำธรรมชาติ ขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีดอกบัวแดงอยู่ในหนองน้ำเป็น จำนวนมาก จึงขนานนามชื่อหมู่บ้านนี้ว่า (บ้านใหญ่หนองบัวแดง) ทั้งนี้เพื่อให้ชื่อหมู่บ้านสอดคล้องกับหนองน้ำธรรมชาติที่มีดอกบัวแดงจำนวนมากนั่นเอง ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2460 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแบ่งเขตการปกครอง ต.น้ำอ้อม อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นตำบล อีกตำบลหนึ่ง โดยมีชื่อว่า "ตำบลบัวแดง" มีหมู่บ้านอยู่ในเขตปกครองของตำบลนี้ 14 หมู่บ้านและอยู่ในเขตความปกครองของ อ.เกษตรวิสัย โดยมีขุนบัวแดง ดำริ (นายจันทร์ ศาลาแดง) เป็นกำนันคนแรกซึ่งตั้งที่ทำการกำนัน ณ บ้านหนองบัวแดงจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2502 นายชน กองมณี เป็นกำนัน ราษฏรในตำบลนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และหมู่บ้านได้เพิ่มจาก 14 หมู่บ้าน เป็น 29 หมู่บ้าน ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้ลดน้อยลง เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ ไม่รู้จักการรักษาพื้นดินให้ คงความอุดมสมบูรณ์ให้เพียงพอ เช่น การทำลายป่าไม้ ทำให้เกิดฝนแล้ง ไม่รู้จักการใช้ปุ๋ย เป็นต้น ผลที่เกิดขึ้น คือ ราษฏรอดอยาก ขาดแคลนน้ำ ข้าวบริโภค โจรผู้ร้ายชุกชุมเพราะฝนฟ้าไม่ อำนวยให้ตกตามฤดูกาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 - 2504 ประกอบกับหมู่บ้านนี้ อยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอเกษตรวิสัย ราษฏรไปติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการ อำเภอ ต้องใช้เวลาเดินทางแรมคืน เพราะเส้นทางคมนาคมที่ใช้กันเป็นทาง เกวียน ทำให้ราษฏรได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ และ ขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอสำหรับออกไปตรวจตราดูแลความทุกข์สุขของราษฏรให้ทั่วถึง ครั้นในปี พ.ศ. 2505 ท่านพระครูปทุมสโรภาส (ครูเฮ้า แพงจันทร์) เจ้าอาวาสวัดสระปทุมสมัยนั้น ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคณะ อำเภอปทุมรัตต์ ได้เห็นความยากลำบากของราษฏรในตำบลบัวแดง ต.โนนสวรรค์ และตำบลโพนสูง ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกันและพอที่จะรวมกัน จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอได้ มีความดำริที่จะจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น โดยเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและคณะสงฆ์ใน 3 ตำบล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะ ก่อสร้างกิ่งอำเภอขึ้น และได้ยื่นคำร้องขอตั้งอำเภอขึ้น ณ บ้านหนองบัวแดง หมู่ 1 ต.บัวแดง โดยขอก่อสร้างสถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ และสถานีอนามัย ขึ้นเอง ซึ่งมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด กระทรวงมหาดไทย เห็นความจำเป็นของราษฏร และเพื่ออำนวยความสะดวกของราษฏรทั้ง 3 ตำบล ซึ่งอยู่ห่างไกลอำเภอเกษตรวิสัย จึงได้พิจารณาอนุมัติให้สร้างสถานี ตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ และสถานีอนามัยตามที่ประชุมร้องขอ ท่านพระครูปทุมสโรภาส จึงได้ลงมือก่อสร้างสถานที่ราชการทั้ง 3 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในการเสียสละกำลังทรัพย์จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะสงฆ์ และราษฏรทั้ง 3 ตำบล จนกระทั่งได้ก่อสร้างสถานที่ราชการทั้ง 3 แห่งเสร็จ ภายในเวลา 115 วัน และคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 305,058 บาท และ ได้มอบให้เป็นสมบัติของทางราชการในปี พ.ศ. 2505 นั่นเอง โดยเหตุนี้กระทรวงมหาดไทยจึงมีประกาศลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2506 โดยแบ่งเขตการปกครองอำเภอเกษตรวิสัย ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอโดยมีชื่อว่า "กิ่งอำเภอปทุมรัตต์" ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา และนายวิญญู อังคณารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสมัยนั้นเป็นประธานในพิธีตั้งกิ่ง อำเภอปทุมรัตต์ โดยมี 3 ตำบล อยู่ในเขตการปกครองของกิ่งอำเภอปทุมรัตต์ คือ ต.บัวแดง ต.โนนสวรรค์ และ ต.โพนสูง ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้มี พระราชกฤษฏีกายกฐานะกิ่งอำเภอปทุมรัตต์ขึ้นเป็น "อำเภอปทุมรัตต์" เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2508 และมีตำบลอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอนี้ 4 ตำบล คือ ต.บัวแดง ต.โนนสวรรค์ ต.โพนสูง ต.หนองแคน ต.ดอกล้ำ ต.สระบัว ต.โนนสง่า และ ต.ขี้เหล็ก

การที่ได้ชื่อว่า "อำเภอปทุมรัตต์" ก็โดยที่อำเภอนี้ได้ตั้งอยู่ ณ บ้านหนอง บัวแดง คำว่า "ปทุม" หมายความว่า "ดอกบัว" และคำว่า "รัตต์" หมายความว่า "แดง"

อำเภอปทุมรัตต์ จึงมีความหมายตรงกันกับชื่อหมู่บ้านหนองบัวแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อมิให้มีชื่อตรงกับ อำเภอหนองบัวแดง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ