ศิลปะวัฒนธรรม ของ อำเภอลับแล

ชาวเมืองลับแลดั้งเดิม มีภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ คือในชุมชนรอบพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ปรากฏหลักฐานในสมัยสุโขทัย และชุมชนเดิมในพื้นที่ตั้งตัวอำเภอลับแล ก่อนที่จะถูกทิ้งร้าง ปรากฏหลักฐานศิลาจารึกการสถาปนาพระธาตุเจดีย์พิหารในสมัยพระยาลิไทย สันนิษฐานว่าแถบที่ตั้งเมืองลับแลทั้งหมด เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณมาก่อนนับ ๗๐๐ ปี[5]

ก่อนที่จะมีการอพยพชาวไทยวนจากอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสนมาในสมัยหลัง ซึ่งปัจจุบันชาวไทยวนในอำเภอลับแลส่วนใหญ่อยู่ในเขตตอนเหนือของอำเภอ และที่ตั้งตัวอำเภอ ส่วนเขตทางใต้ของอำเภอลับแล ยังคงเป็นชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณอยู่ ดังนั้นชาวลับแลจึงมีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ทั้ง 2 วัฒนธรรม คือชุมชนภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ และชุมชนภาษาถิ่นล้านนา มีภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นแบบล้านนา ที่มีใช้อยู่ในแถบล้านนาตะวันออก เช่น แพร่ น่าน เชียงราย และพะเยา เป็นต้น