ประเพณีท้องถิ่นเมืองตาก ของ อำเภอเมืองตาก

งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีประวัติยาวนานเท่าที่มีบันทึกเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีแนวความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาขอขมาต่อแม่พระคงคา ได้มีการพัฒนากระทงเป็นรูปดอกบัวบาน โดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศคนแรกในประวัติศาสตร์การลอยกระทง และกลายเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันในส่วนของประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตมาว่า มีสามเณรน้อยชอบทำบาป ยิงนกตกปลา ทำร้ายไก่ วัว เต่า และพญานาค ตาย จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตัวเองได้ทำ จึงขออธิษฐานให้ได้เกิดมาเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ต่อมาเกิดมาเป็นไข่ของกาขาวคู่หนึ่ง และฟักออกมาเป็นเด็กทารก 5 คน คือ เณรน้อย ไก่ วัว เต่า และพญานาค กาขาวที่ตายลงจึงได้เข้าฝันลูก ๆ ทั้ง 5 ว่าถ้าระลึกถึงพ่อแม่ก็ให้นำด้ายมาฟั่นเป็น รูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป ต่อมาเด็กทั้ง 5 คนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ดังนั้นการลอยฟั่นด้ายไปเปรียบเสมือนเป็นการบูชาพระคุณของบิดามารดา และเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ด้วยหลังจากนั้นจึงได้มีการพัฒนาวัสดุการทำกระทงสายเป็นกะลามะพร้าวที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เนื่องจากชาวเมืองตากนั้นนิยมรับประทานเมี่ยงเป็นอาหารว่าง ถ้าเหลือก็นำมาจำหน่าย “เมี่ยง” ทำจากมะพร้าวใช้เฉพาะส่วนเนื้อ ถั่วลิสง และใบเมี่ยงเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีกะลาที่เหลือจากการทำเมี่ยงเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความคิดนำกะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทง โดยขัดทำความสะอาดเลือกเฉพาะด้านที่สมบูรณ์ไม่มีรู มาตกแต่งให้สวยงาม ภายในใส่ฟั่นด้ายรูปตีนกาตามตำนานประเพณีที่สืบต่อกันมา โดยเทียนขี้ผึ้งที่ใช้ยึดฟั่นด้ายนำมาจากเทียนจำนำพรรษาของพระสงฆ์ที่ไม่ได้ใช้หลังจากช่วงออกพรรษาไปแล้ว จึงถือว่าเป็นศิริมงคลสำหรับตนเองงานประเพณีกระทงสายไหลประทีปพันดวง เดิมเป็นเพียงการสาธิตการลอยกระทงสายในแม่น้ำปิงเท่านั้น จนปี 2540 ได้มีการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงเกิดเป็นประเพณีการแข่งขันลอยกระทงสายชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กิจกรรมภายในงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าที่มีการกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนจากชุมชมต่าง ๆ มีการจัดแสดงกระทงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จัดการประกวดกระทงนำ กระทงสาย และกระทงตามจากตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ในเมืองตาก และกระทงเหล่านี้จะนำไปแข่งลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงในช่วงตอนค่ำด้วยช่วงค่ำเริ่มจากการขบวนอัญเชิญกระทงพระราชทาน ไปประดิษฐาน ณ เวทีแข่งขันกลางแม่น้ำปิง ตามด้วยขบวนเชิญกระทงสายที่จะเข้าแข่งในวันนั้นจากชุมชนต่าง ๆ เมื่อเข้าประจำการแข่งขันลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงนั้น จะเริ่มแข่งที่ละชุมชน เริ่มที่ปล่อยกระทงนำอันสวยงาม ตามด้วยกระทงตามที่ทำจากกะลาจุดไฟที่ฟั่นด้ายรูปตีนกาพันใบ และปิดท้ายขบวนกระทงด้วยกระทงปิดท้ายที่มีลักษณะคล้ายกระทงนำ แต่มีขนาดเล็กกว่า ขบวนกระทงสายที่สว่างโดดเด่นไหลยาวต่อเนื่องไปตามลำน้ำปิงอย่างสวยงามตามแนวโค้งของสันทรายใต้น้ำ ดูเป็นเส้นสายธารแห่งความหวังของการดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ควรภาคภูมิใจ ประกอบความตื่นเต้นของกองเชียร์แต่ละชุมชนที่ลุ้นให้ชุมชนของตัวเองมีขบวนกระทงสายที่ต่อเนื่องและงดงามที่สุด

งานตากสินมหาราชานุสรณ์และงานกาชาด จังหวัดตาก

ประวัติ / ความเป็นมา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงได้รับคำต่อท้ายพระนามว่า มหาราชแสดงถึงการประกอบพระราชกรณียกิจ อันเอนกอนันต์ต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจในการกอบกู้เอกราช และการรวบรวมคนไทยเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนเราสามารถเป็นชาติมาได้ในปัจจุบัน พระราชประวัติของพระองค์ก่อนเสวยราชสมบัตินั้น นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ท่านทรงมีเชื้อสายจีน โดยมีบิดาเป็นคนจีน และมารดาเป็นคนไทย จากความสามารถพระองค์ได้เข้ารับราชการในสมัยอยุธยาตอนปลาย และได้ประกอบความดีความชอบมากมายจนได้เป็นถึงเจ้าเมืองตาก ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกพระองค์ท่านทางมีมุมมองอันกว้างไกล และคาดเดาเหตุการณ์ได้ถูกต้องว่า ถ้ายังอยู่ในอยุธยาต่อไปก็คงจะไม่รอดแน่ ดังนั้น จึงทรงรวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของข้าศึกออกไป แล้วจึงรวบรวมไพร่พลกลับมากู้เอกราชได้ภายในระยะเวลาอันสั้น จากพระราชกรณียกิจดังกล่าว ชาวจังหวัดตาก จึงร่วมใจกันจัดงานตากสินมหาราชานุสรณ์ขึ้น เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อบ้านเมืองมาในอดีต

กำหนดงาน

วันที่ 28 ธันวาคม ถึง 3 มกราคม ณ บริเวณศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดตาก

ประเพณีสงกรานต์ถนนข้าวแคบ หาดทรายทอง จังหวัดตาก

ประเพณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากอาชีพส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดตาก คือ ทำนา ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการทำนา คือ ข้าว นอกจากข้าวเป็นอาหารหลักแล้วยังสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง อย่างเช่น ข้าวแคบ หรือ ข้าวเกรียบ โดยเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวเมืองตาก และเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่ง ที่มีวิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ แต่การทำข้าวแคบ เริ่มจากการไล้แผ่นแป้งพร้อมโรยงาดำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอาแผ่นแป้งไปตากแดดให้แห้ง การรับประทาน สามารถทำได้รูปแบบ เช่น เมี่ยงคำ ยำข้าวเกรียบ ปิ้งหรือทอด รับประทานได้ในทุกเทศกาลและโอกาสต่าง ๆ สถานที่ที่เหมาะสมในการจัดงานประเพณีในครั้งนี้ คือ หาดทรายทอง แม่น้ำปิง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนและเล่นน้ำของชาวเมืองตาก นักท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียง สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวและเล่นน้ำได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงทะเล โดยมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ห่วงยาง อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำทุกชนิด รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬา เช่น วอลเล่ย์บอลชายหาด ฟุตบอลชายหาด นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตากทุกคน