ชาติพันธุ์ ของ อำเภอเวียงสา

ชาติพันธุ์ของผู้คนในเวียงสาเป็นคนพื้นเมือง ถิ่นเดิมคือพวกละว้า ลักษณะทางพันธุกรรมเป็นคนรูปร่างใหญ่ สูง โครงกระดูกใหญ่โต มีภาษาสำเนียงพื้นถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อาศัยทำมาหากินตั้งบ้านเรือน ถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำน่านและแม่น้ำว้า และอีกส่วนหนึ่งเป็นคนเมืองโยนก หรือ ชาวไทยเชียงแสนที่เรียกตัวเองว่าไทยยวนหรือคนเมือง ซึ่งอพยพเป็นข้าขอบขันทะสีมากับสยามประเทศ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ที่เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญได้กวาดต้อนผู้คนมาสร้างบ้านแปงเมืองให้สงบสุขร่มเย็นเป็นปึกแผ่นวิถีของผู้คนในเวียงสาเป็นคนรักสงบ โอบอ้อมอารี มีความสมัครสมานสามัคคี เรียบง่าย อ่อนงาม ทำมาหากินโดยสุจริต แต่ก่อนมีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ บนพื้นที่ราบลุ่ม กว้างใหญ่ ที่มีแม่น้ำไหลผ่านถึงเจ็ดสาย จึงเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร สัตว์บก สัตว์น้ำ หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนทั้งบ้านทั้งเมืองให้อิ่มหนำสำราญ ดำรงรักษาวิถีรากเหง้า วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้จากรุ่นสู่รุ่น อันส่งผลให้ “เวียงสา” เจริญรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุขจนตราบทุกวันนี้